สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง วาตภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 19, 2011 09:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น พร้อมสรุปสถานการณ์ภัยแล้ง วาตภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2554) ดังนี้

สรุปสถานการณ์วาตภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 10 พฤษภาคม 2554)

1. สถานการณ์วาตภัย ในช่วงวันที่ 1 เมษายน - 10 พฤษภาคม 2554 เกิดพายุลูกเห็บ ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวม 39 จังหวัด 126 อำเภอ 237 ตำบล 866 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิษณุโลก แพร่ ลำปาง ลำพูน อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อำนาจเจริญ ชัยนาท นครปฐม ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ระยอง สระแก้ว และจังหวัดพังงา บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายรวม 18,408 หลัง และสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตจากฟ้าผ่า)

2. การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปพร. อส. อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นค่าวัสดุซ่อมแซมบ้านเรือนราษฎร ที่ได้รับความเสียหาย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ ต่อไป

3. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัย

  • เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากวาตภัย จึงได้พระราชทานถุงยังชีพ เป็นเครื่องอุปโภค ได้แก่ หม้อ กระทะ ทัพพี จาน ช้อน ขันน้ำ เสื่อ มุ้ง ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า และผ้าถุง ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปมอบให้แก่ราษฎรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายดิสธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายประสงค์ พิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิฯ พร้อมคณะ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ประสบวาตภัยในพื้นที่จังหวัดน่าน นครพนม มุกดาหาร และจังหวัดร้อยเอ็ด รวม 343 ครอบครัว คิดเป็นมูลค่าสิ่งของสงเคราะห์ทั้งสิ้น 451,885.66 บาท

สถานการณ์สำคัญอื่นๆ (ระหว่างวันที่ 9 - 18 พฤษภาคม 2554)

สถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก/น้ำท่วมฉับพลัน/น้ำล้นตลิ่ง ได้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง รวม 4 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่แล้ว ดังนี้

1. จังหวัดลำปาง เกิดฝนตกหนักมากต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โดยมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด วัดได้ 191.2 มม. ที่อำเภอเมืองลำปาง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ 9 อำเภอ 30 ตำบล 141 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง แจ้ห่ม แม่พริก เถิน เสริมงาม สบปราบ เมืองปาน แม่ทะ และอำเภอแม่เมาะ

การให้ความช่วยเหลือ

  • จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด มอบถุงยังชีพ 500 ชุด
  • ศบภ. มทบ. 32 ได้จัดกำลังพล 50 นาย เข้าช่วยเหลือราษฎรในการขนย้ายสิ่งของในพื้นที่

2. จังหวัดลำพูน เกิดฝนตกหนักมากต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โดยมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด วัดได้ 134.5 มม. ที่อำเภอลี้ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่อำเภอลี้ 7 ตำบล 84 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลดงดำ นาทราย ลี้ ศรีวิชัย แม่ตืน ป่าไผ่ และตำบลแม่ลาน

การให้ความช่วยเหลือ

  • จังหวัดลำพูน ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน ได้ส่งเรือท้องแบน จำนวน 10 ลำ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย

3. จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 9 และ 10 พฤษภาคม 2554 เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนนสายอำเภอลอง - แพร่ พื้นที่อำเภอลอง บริเวณกิโลเมตรที่ 20 สาเหตุจากถนนขวางทางน้ำทำให้น้ำระบายไม่ทัน

4. จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 เวลาประมาณ 19.00 น. ได้เกิดน้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำยมไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมในพื้นที่อำเภอเมืองสุโขทัย ที่ตำบลปากพระ จำนวน 2 จุด เป็นเหตุให้คันกั้นตลิ่งพังเสียหาย ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร โรงเก็บพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 25 ครัวเรือน 75 คน

การให้ความช่วยเหลือ

1) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบลปากพระ สนับสนุนเรือท้องแบน จำนวน 10 ลำ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

2) เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ 15 นาย สมาชิกกองร้อยอาสารักษาดินแดนเมืองสุโขทัย 15 นาย เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 5 นาย สมาชิก อปพร. 25 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 8 นาย ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

3) องค์การบริหารส่วนตำบลปากพระ ร่วมกับชาวบ้านได้ทำอาหารเลี้ยงเจ้าหน้าที่ที่มาให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และได้จัดตั้งเต๊นท์ที่พักชาวบ้านพร้อมอพยพผู้ประสบภัยและอำนวยความสะดวกด้านอุปโภค/บริโภค

5. จังหวัดระนอง เมื่อเช้าวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เกิดดินเลื่อนไหล ทับเส้นทางถนนช่วงบ่อน้ำร้อนทักษะวาริน - หาดส้มแป้น กีดขวางทางจราจร 1 ช่องทาง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง ได้ประสานให้สำนักงานทางหลวงชนบท และองค์การบริหารส่วนตำบลหาดส้มแป้น ดำเนินการแก้ไขตักดินออกและล้างพื้นถนน ปัจจุบันรถสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติแล้วตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เวลาประมาณ 10.00 น.

6. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทรงโปรดให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ดำรง เหรียญประยูร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงยังชีพพระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัย จำนวน 800 ถุง ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ 20 รูป ณ ศาลาเอนกประสงค์ เทศบาลตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง และมอบเงินช่วยเหลือแก่ราษฎรที่บ้านพังทั้งหลัง จำนวน 2 ราย เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

*อนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว (ระหว่างวันที่ 10 - 18 พฤษภาคม 2554 จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าได้เกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เวลา 15.11 น. แผ่นดินไหวบนบก ขนาด 4.0 ริกเตอร์ บริเวณประเทศพม่า ศูนย์กลาง 43 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ส่วนพื้นที่อื่นไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนี้

  • เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เวลา 15.55 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 7.0 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะลอยัลตี้ มหาสมุทรแปซิฟิก ความลึก 21 กิโลเมตร เวลา 21.32 น. เกิดแผ่นดินไหว ในทะเล ขนาด 5.2 ริกเตอร์ บริเวณทะเลโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย ความลึก 10 กิโลเมตร และเวลา 22.26 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบก ขนาด 5.4 ริกเตอร์ บริเวณมณฑลจี๋หลิน ประเทศจีน ความลึก 43 กิโลเมตร
  • เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 เวลา 08.28 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.0 ริกเตอร์ บริเวณมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ความลึก 99 กิโลเมตร และเวลา 14.45 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.2 ริกเตอร์ บริเวณฮัลมา ฮิลา ประเทศอินโดนีเซีย ความลึก 105 กิโลเมตร
  • เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เวลา 14.41 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 4.9 ริกเตอร์ บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ความลึก 45 กิโลเมตร
  • เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 เวลา 04.43 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.1 ริกเตอร์ บริเวณเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ความลึก 10 กิโลเมตร
  • เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2554 เวลา 04.08 น. เกิดแผ่นดินไหวในบนบก ขนาด 6.1 ริกเตอร์ บริเวณชายแดนประเทศอัฟกานิสถาน
  • เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 เวลา 01.37 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 6.5 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะโซโลมอน เวลา 06.25 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.4 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะโซโลมอน และเวลา 09.35 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.0 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
  • เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 เวลา 07.14 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 6.2 ริกเตอร์ บริเวณตอนใต้ของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ความลึก 57 กิโลเมตร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 พฤษภาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ