คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สรุป ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2554
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2554 มาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่ง สศช. ได้เผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2554 เมื่อที่ 23 พฤษภาคม 2554 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2554
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ทั้งการส่งออก การลงทุน และการบริโภคของภาคเอกชน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคเอกชนขยายตัวสูง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสสี่ ของปี 2553
2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554
สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงดังนี้
2.1 ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2554
1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ในช่วง 4 เดือนแรกของปีมีจำนวนนักท่องเที่ยว 6.85 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 18.8 ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงภายในประเทศ และเศรษฐกิจเอเซียยังคงขยายตัวได้ดี คาดว่าในปี 2554 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 18 ล้านคน
2) ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง
3) สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและการขยายตัวของสินเชื่อยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อยังไม่เข้มงวดมากนัก และการสนับสนุนสินเชื่ออย่างต่อเนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
4) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่เกณฑ์สูงประกอบกับการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานเงินเดือนราชการ และราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับสูง และอัตราการว่างงานต่ำที่ร้อยละ 0.8 เมื่อรวมกับปัจจัยอื่นๆ สนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต
5) ศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากที่ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตในประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนมากที่สุดระดับราคามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก
2.2 ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด
1) เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้ปรับลดการประมาณการเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจากร้อยละ 2.5 เหลือร้อยละ 2.4 โดยที่
- สหรัฐ : ขยายตัวดีในครึ่งปีแรก แต่ยังมีความไม่แน่นอน
- สหภาพยุโรป : หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงและการดำเนินนโยบายการคลังไม่เอื้อต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
- ญี่ปุ่น : ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในไตรมาสที่ 2 และ 3
- จีน : ดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและราคาอสังหาริมทรัพย์
2) ราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา การที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร และอุปสงค์ต่อสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง ด้านอุปสงค์อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง ด้านอุปทานจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การวางแผนเพื่อการผลิตและการลงทุนต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง
3) อัตราดอกเบี้ยอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและนักลงทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
4) ผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และ อุตสาหกรรมต่อเนื่องกัน ซึ่งคาดว่าการผลิตรถจะชะลอลงและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ 2 และ 3
3. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2554 ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
3.1 อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสองปัจจัยหลัก คือ กำลังซื้อในชนบทอันเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี และกำลังซื้อจากการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ในระยะต่อไปจึงควรสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
3.2 แนวโน้มของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงแม้จะลดลงในช่วงสั้นๆ ซึ่งยังคงมีผลกระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ จึงควรดูแลราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต
3.3 ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ ควรจะให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการเร่งรัดโครงการพัฒนาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาพลังงานทดแทน การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การผลิตและพัฒนาคุณภาพกำลังคนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3.4 ปริมาณการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและการค้ากับประเทศในอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงควรเร่งรัดแผนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ทั้งด้านคมนาคมขนส่งและด้านการอำนวยความสะดวกสินค้าข้ามพรมแดนในระบบบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 พฤษภาคม 2554--จบ--