ขออนุมัติบริจาคเงินเข้ากองทุนสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 8, 2011 13:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการให้ประเทศไทยบริจาคเงินเข้ากองทุนสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นเงิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยเจียดจ่ายจากเงินงบประมาณเหลือจ่ายปี 2554 แผนงาน สวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผลผลิต ประชากร เป้าหมายที่ได้รับการป้องกันและคุ้มครองจากปัญหาการค้ามนุษย์ กิจกรรมหลัก การพัฒนากลไกและการบริหารจัดการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ กิจกรรมย่อยการบริหารงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 งบดำเนินงานค่าตอบแทนใช้สอย และวัสดุ

สาระสำคัญของเรื่อง

พม. รายงานว่า

1. แผนปฏิบัติการระดับโลกว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งได้รับการรับรองในระหว่างการประชุมเต็มคณะของสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 โดยมีวัตถุประสงค์ ได้แก่ การส่งเสริมการเป็นภาคพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก การส่งเสริมประชาสังคม การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และการจัดตั้งกองทุน UN Voluntary Trust Fund for Victims of Trafficking in Person especially Women and Children เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เสนอโดยรัฐและองค์กรเอกชน รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของ UNODC ในการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ทั่วโลกทุก 2 ปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2555

2. การจัดตั้งกองทุนฯ (ตามข้อ 1) มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนเข้ากองทุนฯ โดยให้รัฐภาคี ภาคเอกชนหรือปัจเจกบุคคล ฯลฯ บริจาคผ่านช่องทางต่างๆ และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้องค์กรภาคเอกชน (NGOs) ในประเทศต่าง ๆ ได้รับทราบและส่งข้อเสนอโครงการ/กิจกรรม (Proposal) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ จำนวน 5 คน แต่งตั้งโดยเลขาธิการ UN ซึ่ง ดร.สายสุรี จุติกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ทาง UN ได้จัดกิจกรรมระดับสูงที่นครนิวยอร์ก เพื่อเปิดตัวกองทุน เพื่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยมีหลายประเทศแจ้งความประสงค์บริจาคเงินเข้ากองทุนฯ ในระหว่างพิธีเปิดตัวกองทุนฯ อีกทั้งยังมีประเทศสมาชิกและภาคเอกชนจำนวนหนึ่งที่ได้ให้คำมั่นที่จะบริจาคเข้ากองทุนฯ ด้วย อาทิ กาตาร์ได้ให้คำมั่นว่าจะบริจาค 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และหากไทยจะพิจารณาบริจาคเงินเข้ากองทุนฯ ก็จะเป็นโอกาสที่ไทยได้แสดงการสนับสนุนแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เป็นการรักษาบทบาทนำของไทยในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนของไทยจะสามารถขอใช้งบประมาณนี้ในโอกาสต่อไปได้ อีกทั้ง ดร.สายสุรี ฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ แล้ว ก็จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการของไทยในเวทีดังกล่าวด้วย

3. พม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ดังนั้น การบริจาคเงินเข้ากองทุนสหประชาติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะเป็นการเน้นย้ำให้สมาชิกรัฐภาคี และนานาประเทศ รับทราบถึงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของ พม. อีกทั้งในอนาคตประเทศไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จากกองทุนฯ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มิถุนายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ