ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะรัฐมนตรีประศาสน์การโครงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งสหประชาชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 8, 2011 13:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งว่าประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีประศาสน์การของ United Nations Human Settlement Programme : UN-HABITAT วาระปี 2555 — 2558 โดย กต. จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าวของประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่าประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีประศาสน์การ (Governing Council) ของโครงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งสหประชาติ UN-HABITANT วาระปี 2555 — 2558 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. UN-HABITANT มีฐานะเป็นองค์กรชำนัญพิเศษของสหประชาติได้รับอาณัติ (mandate) จากสมัชชาสหประชาชาติในการส่งเสริมเมืองที่ยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการสร้างถิ่นฐานให้แก่มนุษย์ทุกคนโดยเท่าเทียม UN-HABITANT มีบทบาทในการช่วยผู้กำหนดนโยบายและชุมชนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเมือง

2. ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยร่วมมือกับ UN-HABITANT ในการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการกับประเทศที่สามอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องพลังงานทดแทนการจัดการของเสีย เกษตรอินทรีย์ในเมือง การวางผังเมือง และการจัดรูปที่ดิน นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ในการฟื้นฟูชุมชนพื้นเมืองจากผลกระทบของสึนามิในประเทศไทยระหว่างปี 2548 - 2549

3. คณะมนตรีประศาสน์การของ UH-HABITAT ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 58 ประเทศ โดยมาจากแอฟริกา 16 ประเทศ เอเชีย 13 ประเทศ ยุโรปตะวันออก 6 ประเทศ กลุ่มลาตินและแคริบเบียน 10 ประเทศ และยุโรปตะวันตกและอื่น ๆ 13 ประเทศ เมื่อสิ้นสุดปี 2554 จะมีตำแหน่งว่าง รวม 19 ที่นั่ง โดยเป็นกลุ่มของเอเชีย 5 ที่นั่ง เนื่องจากสมาชิกภาพของบาห์เรน อินเดีย อิรัก ซาอุดีอาระเบีย และศรีลังกา จะสิ้นสุดลง

4. ก่อนหน้าการสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ กต. ได้มีหนังสือหารือไปยังหน่วยงานหลักของไทยที่ดำเนินการเกี่ยวกับงานของ UH-HABITAT คือ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งต่างเห็นพ้องให้ประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนี้ ทั้งนี้ ในการสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ประเทศไทยไม่ต้องดำเนินการแลกเปลี่ยนการสนับสนุนกับประเทศใด ๆ

5. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ที่ประชุม Resumed Organizational Session for 2011 ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council: ECOSOC) ของสหประชาชาติ ได้ลงมติให้ประเทศไทยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีประศาสน์การของ UH-HABITAT วาระปี 2555 — 2558 ทั้งนี้ ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่สมัชชาสหประชาชาติมีมติจัดตั้งคณะมนตรีประศาสน์การของ UH-HABITAT เมื่อปี 2520 โดยมีประเทศจากกลุ่มเอเชียที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้แก่ บาห์เรน จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย

6. ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีประศาสน์การของ UH-HABITAT มีดังนี้

6.1 ไทยสามารถมีบทบาทและส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับแผนงานของการดำเนินงานของ UH-HABITAT ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีต่อการเผยแพร่และแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของประเทศไทยในเรื่องการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ รวมทั้งจะเป็นช่องทางในการนำเสนอแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีระหว่างประเทศ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 นางแอนนา คาจูมูโล ทิไบจูคา ผู้อำนวยการบริหาร UH-HABITAT ในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลเกียรติยศของ UH-HABITAT (Special Citation of HABITAT Scroll of Honour) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาถิ่นฐานที่ยั่งยืนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในเมืองและชนบทของประเทศไทยเนื่องในโอกาสวันแห่งการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2546

6.2 ไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ การจัดการ และการดำเนินกิจกรรมในกรอบความร่วมมือของ UH-HABITAT ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาชุมชนเมืองที่ยั่งยืน การจัดหาที่อยู่อาศัย และการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย และยังสามารถใช้ส่งเสริมแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนากับมิตรประเทศต่างๆ ได้ด้วย

6.3 การดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีประศาสน์การของ UH-HABITAT เป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับ UH-HABITAT ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ประเทศไทยมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มิถุนายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ