เรื่อง การดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง กรณีเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา
ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอดังนี้
1. รับทราบผลการติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีเรือน้ำตาลล่ม
2. เห็นชอบเพิ่มเติมข้อความตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 เรื่องการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา กรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้อ 4 โดยระบุข้อความเพิ่มเติมว่า “โดยเป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้พิจารณาช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 2 แนวทาง คือ
1) ช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2) ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่ได้รับความเสียหาย ร้อยละ 60 ของมูลค่าความเสียหาย จากเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ”
ผลการติดตามให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีเรือน้ำตาลล่มสรุปได้ดังนี้
1. การให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี จังหวัดได้มีการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปแล้ว จำนวน 1,222 ตารางเมตร เป็นเงิน 298,488 บาท
สำหรับความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สำรวจแล้วมีเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 30 ราย จำนวน 119 กระชัง พื้นที่ 2,293 ตารางเมตร มูลค่าความเสียหาย เป็นเงิน 6,002,548 บาท ซึ่งร้อยละ 60 ของมูลค่าความเสียหาย คิดเป็นเงิน 3,601,528.80 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังได้รับความเสียหาย จำนวน 27 ราย 110 กระชัง จำนวนพื้นที่ 2,167 ตารางเมตร มูลค่าความเสียหาย เป็นเงิน 5,932,048 บาท การให้ความช่วยเหลือเยียวยา ร้อยละ 60 ของมูลค่าความเสียหาย เป็นเงิน 3,559,228.80 บาท และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) เรียบร้อยแล้ว
2) จังหวัดปทุมธานี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังได้รับความเสียหาย จำนวน 3 ราย 9 กระชัง จำนวนพื้นที่ 126 ตารางเมตร มูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 70,500 บาท การให้ความช่วยเหลือเยียวยา ร้อยละ 60 ของมูลค่าความเสียหาย เป็นเงิน 42,300 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)
ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความช่วยเหลือ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะร่วมกับกรมประมง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี นำเงินช่วยเหลือไปมอบให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังได้รับความเสียหายภายใน 1 สัปดาห์
2. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีบ้านเสียหายทั้งหลัง และบางส่วน
การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีบ้านเสียหายบริเวณหมู่ 2 ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลังและบางส่วน จำนวน 4 หลัง ท่าน้ำสูญหาย จำนวน 1 หลัง โดยผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลือในเบื้องต้น จากมูลนิธิ มิราเคิล ออฟ ไลฟ์ เงินบริจาคของจังหวัด กาชาดจังหวัด และเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และจากการลงพื้นที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือทราบว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2554 ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เชิญบริษัท ไทยรวมทุน คลังสินค้า จำกัด บริษัทน้ำตาลสระบุรี จำกัด บริษัท เจ เอ็น พี ไทยแลนด์ จำกัด และบริษัท อัลฟา มารีน ซัพพลาย จำกัด อัยการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าของบ้านที่ได้รับผลกระทบบ้านเรือนเสียหาย จำนวน 4 หลัง เพื่อทำความตกลงในค่าเสียหายกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมมีมติให้ความช่วยเหลือและเจ้าของบ้านได้นำเสนอประมาณการราคารื้อถอน ค่าปลูกสร้างใหม่ และอื่นๆ ซึ่งบริษัท เจ เอ็น พี ไทยแลนด์ จำกัด ยินดีออกค่าใช้จ่าย 2 ใน 3 และขอให้ บริษัท อัลฟา มารีน ซัพพลาย จำกัด ออกค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอกลับไปปรึกษาหารือร่วมกันก่อน และจะมีการประชุมเพื่อหาข้อยุติปัญหาข้างต้น ในวันที่ 13 มิถุนายน 2554
สำหรับตลิ่งที่พังทลาย การแก้ไขปัญหาระยะยาว เมื่อกู้เรือได้สำเร็จ กรมเจ้าท่าจะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำ คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 4 เดือน
3. ประชาชนร้องเรียนกรณีขาดรายได้
อำเภอบางปะอิน ได้รายงานว่า มีประชาชนซึ่งประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำ จำนวน 20 ราย ร้องเรียนขอให้หาแนวทางช่วยเหลือ โดยแจ้งว่าปกติมีอาชีพจับกุ้งแม่น้ำขายมีรายได้วันละประมาณ 1,000 บาท แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เรือน้ำตาลล่ม ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพดังกล่าวได้ ขาดรายได้วันละ 1,000 บาท ซึ่งกรมประมงได้รายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมประมงโดยสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด บางไทร ได้นำปลาจากแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวไปอนุบาลกว่า 20 ชนิด จำนวนประมาณ 5,000 ตัว อาทิ เช่น ปลากดแก้ว ปลาลิ้นหมา ปลากดเหลือง ปลาแขยง ปลาตะเพียนทอง ปลาตะเพียนขาว เป็นต้น ขณะนี้มีแผนที่ดำเนินการปล่อยปลาที่อนุบาลไว้ พันธุ์ปลาต่างๆ และ กุ้งก้ามกราม รวมทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านตัว โดยจะทยอยปล่อยตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไป
4. สัญญาณเตือนภัยในการจราจรทางน้ำ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำสัญญาณเตือนภัยในการจราจรทางน้ำ ดังนี้
1) กรมเจ้าท่า ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการจราจรทางน้ำ ได้ดำเนินการสำรวจเพื่อก่อสร้างป้ายแจ้งเตือนทางน้ำ ซึ่งดำเนินการปักเสาเข็มก่อสร้างในแม่น้ำ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 - 2 เดือน และต้องใช้ระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายปั้นจั่นเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เสนอให้ก่อสร้างป้ายแจ้งเตือนทางน้ำบนฝั่งควบคู่กันไป ซึ่งสามารถก่อสร้างได้ทันที และทำให้เห็นว่ารัฐบาลได้มีมาตรการในการป้องกันอย่างรวดเร็ว
2) กรมทางหลวง ซึ่งรับผิดชอบสะพานข้ามแม่น้ำ ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของจังหวัดโดยสะพานที่เกิดอุบัติเหตุ ได้มีการทาสีขาวแดงสลับกันที่ตอม่อสะพานช่วงที่อยู่เหนือน้ำติดสัญญาณไฟกระพริบสีแดง และไฟส่องสว่าง เพื่อเป็นสัญญาณเตือนเรือที่สัญจรไปมาผ่านสะพานดังกล่าว สำหรับ ยางกันกระแทก (Rubber fender) เมื่อระดับน้ำลดลง กรมทางหลวงจะดำเนินการติดตั้งต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม จะได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลการสัญจรทางน้ำ และสะพานต่างๆ เพื่อกำหนดมาตรการและบูรณาการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มิถุนายน 2554--จบ--