คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับทราบตามที่ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เบิกเงินชดเชยสำหรับเงินทดรองจ่ายให้รัฐก่อนตามข้อ 1 ตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดา ของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (FDR)+1% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
2. รับทราบแนวทางการปฏิบัติด้านเอกสารของหน่วยงานภาครัฐตามข้อ 2 และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามข้อ 2 (1) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามข้อ 2 (2) ต่อไป
3. รับทราบความคืบหน้าการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีตามข้อ 3
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การขอชดเชยค่าต้นทุนการเงินของ ธ.ก.ส.
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 เห็นชอบหลักการให้แรงจูงใจสำหรับเกษตรกรให้เข้าร่วมโครงการ โดยรัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับเกษตรกรในส่วนที่เกินกว่า 60 บาทต่อไร่ จากอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 120 บาทต่อไร่ (อัตราเบี้ยประกันสุทธิ รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์อยู่ที่ 129.47 บาทต่อไร่) โดยมีวงเงินงบประมาณสูงสุดไม่เกิน 3,989,106,340 บาท โดยให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายไปก่อนและเสนอขอเงินชดเชยจากรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
กค.พิจารณาแล้วเห็นควรให้ ธ.ก.ส.เบิกเงินชดเชยสำหรับเงินที่ทดรองจ่ายไปให้รัฐก่อนตามนัยข้างต้นตามจำนวนที่จ่ายจริง พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยในอัตรา FDR+1% ในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 (อัตราดอกเบี้ย FDR หมายถึง อัตราต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดา ของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด) ซึ่งอัตราปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 3.02500 ต่อปี
2. แนวทางการปฏิบัติด้านเอกสารของหน่วยงานภาครัฐ
เพื่อให้เกษตรกรผู้เอาประกันภัยได้รับค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอขั้นตอนการจ่ายเงินชดเชยของภาครัฐ และเพื่อความยั่งยืนของระบบการประกันภัยพืชผลจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติด้านเอกสารของหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้
(1) คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จัดส่งสำเนาแบบประมวลรวบรวมการช่วยเหลือรายหมู่บ้าน (กษ 02) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ช.ภ.อ. ให้กับ ธ.ก.ส. ที่ให้บริการในพื้นที่อำเภอนั้นด้วย เพื่อที่ ธ.ก.ส จะได้จัดส่งให้กับผู้รับประกันภัยใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมต่อไป
(2) ปรับปรุงแบบประมวลรวบรวมการช่วยเหลือรายหมู่บ้าน (กษ 02) ให้มีการระบุแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย และดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ทพศ.1) ในทุกรอบการเพาะปลูก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ฐานข้อมูลการเพาะปลูกข้าวในประเทศไทย ระดับอำเภอ มีความเชื่อมโยงถึงช่วงเวลาการเพาะปลูก จำนวนเนื้อที่ตำแหน่งที่ตั้งแปลงเพาะปลูก และความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกษตรกรแต่ละรายประสบในแต่ละเขตพื้นที่ ระดับอำเภอ ซึ่งนอกจากจะทำให้ภาครัฐดำเนินการสร้างระบบประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และภัยอื่น ๆ ให้กับเกษตรกรได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนในการพัฒนาเนื้อที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมกับเกษตรกรในแต่ละเขตพื้นที่อีกด้วย
3. การจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี
สมาคมประกันวินาศภัยได้จัดทำร่างกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจะอนุมัติกรมธรรม์ดังกล่าวได้ภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2554 สาระสำคัญของกรมธรรม์สรุปได้ดังนี้
(1) ความคุ้มครอง
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้เอาประกันภัย โดยจะได้รับความคุ้มครองจากภัยธรรมชาติต่างๆ ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัยแต่จะไม่รวมถึงภัยโรคระบาดและ ศัตรูพืช
(2) การเอาประกัน
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเอาประกันภัยในเนื้อที่ทั้งหมดที่ทำการเพาะปลูกในอำเภอเดียวกัน ตามที่ได้แจ้งในแบบขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ทพศ.1)
(3) การจ่ายค่าสินไหมทดแทน
(3.1) เกษตรกรผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน
(3.2) เพื่อให้การจ่ายสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอขั้นตอนการจ่ายเงินชดเชยในส่วนของภาครัฐ ผู้ประกันภัยจะใช้สำเนาเอกสารทางราชการ 2 ฉบับ ในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน ประกอบด้วยแบบประมวลรวบรวมการช่วยเหลือรายหมู่บ้าน (กษ 02) ที่ได้รับความเห็นจาก ก.ช.ภ.อ. และแบบขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ทพศ.1)
(3.3) จำนวนค่าสินไหมทดแทนขึ้นกับระยะการเพาะปลูก โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 60 วันแรก นับจากวันเริ่มเพาะปลูก จำนวน 606 ต่อไร่และวันที่ 61 ขึ้นไป จนถึงวันสุดท้ายก่อนการเก็บเกี่ยว จำนวน 1,400 บาทต่อไร่
(3.4) ผู้รับประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 2 ฉบับ ที่กล่าวข้างต้น จาก ธ.ก.ส. ในฐานะผู้บริหารโครงการ
(4) ช่วงเวลาในการขายกรมธรรม์
ธ.ก.ส. กำหนดช่วงเวลาในการขายกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 สำหรับพื้นที่เพาะปลูกทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ และวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 สำหรับภาคใต้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มิถุนายน 2554--จบ--