ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคครั้งที่ 17 และการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล SMEs

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 13, 2011 11:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคครั้งที่ 17 และการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล SMEs ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า ตามที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคครั้งที่ 17 และการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล SMEs ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2554 ณ เมืองบิ๊กสกาย มลรัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา สรุปผลการประชุมทั้งสอง ดังนี้

1. การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคครั้งที่ 17

1.1 การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี

นายสปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวรายงานความคืบหน้าการเจรจารอบโดฮา ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาช่องว่างระหว่างข้อเรียกร้องของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นต่าง ๆ ที่ยากจะหาข้อตกลงกันได้ โดยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและประมง ซึ่งนายลามีได้ขอให้สมาชิกเอเปคพิจารณาทางเลือกและการดำเนินการในขั้นต่อไปเพื่อที่จะให้การเจรจารอบโดฮาสิ้นสุดลงได้ภายในปีนี้ เช่น การตกลงประเด็นที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ 15 เรื่อง จากการเจรจาทั้งหมด 20 เรื่อง ของรอบโดฮา และกำหนดแผนงานสำหรับการเจรจาเปิดตลาด (Market Access) สำหรับ 1-2 ปี ข้างหน้า โดยมีเป้าหมายว่า หากสมาชิกมีข้อยุติระหว่างกันก็จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 8 ที่นครเจนีวา ในเดือนธันวาคมศกนี้ รับรองการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ สมาชิกเอเปคส่วนใหญ่ต่างแสดงความผิดหวังต่อความล่าช้าในการเจรจารอบโดฮา แต่ก็ยังยืนยันที่จะพยายามต่อไปโดยไม่ละทิ้งหลักการเจรจาทุกเรื่องให้เสร็จพร้อมกัน (Single Undertaking) อย่างไรก็ดี หลายประเทศยอมรับว่าการเจรจาบางเรื่องน่าจะบรรลุผลก่อนเรื่องการเปิดตลาดได้ โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การเปิดเสรีสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม การกำหนดแนวทางการแจ้งและการประเมินความตกลงการค้าเสรีต่อ WTO ประเด็นที่เกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนาและการพัฒนา และการยอมรับเรื่อง Duty-free, Quota-free สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถยอมรับได้มากที่สุดมาเจรจาร่วมกันก่อน (Early Harvest) ได้ หากประเทศสมาชิกเห็นชอบร่วมกัน

ประเทศไทยแจ้งต่อที่ประชุมว่า การเจรจารอบโดฮามีความสำคัญเกินกว่าจะละทิ้งไปโดยไม่มีความพยายามเพิ่มเติม ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาขนาดกลางที่ได้รับผลดีจากระบบการค้าพหุพาคีมาโดยตลอดและยังมีความมุ่งมั่นที่จะเห็นการเจรจาปิดรอบลงได้ในปีนี้ แม้ว่าไทยจะยอมรับความเป็นจริงและได้ลดระดับความคาดหวังจากการเจรจาลงบ้างแล้ว แต่ไทยก็ต้องการเห็นผลการเจรจาที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนา จึงหวังว่าประเทศสำคัญจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้ ทั้งนี้ ไทยเห็นว่า ผลการเจรจาที่มีความสมดุลนั้น ควรต้องครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวกับการเปิดตลาดด้วย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมนอกเหนือไปจากประเด็นด้านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

1.2 การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากขึ้นในภูมิภาคและการขยายการค้า

1.2.1 ประเด็นทางการค้าการลงทุนมิติใหม่ของเอเปค (Next Generation Trade and Investment Issues)

รัฐมนตรีการค้าเอเปคเห็นชอบให้การเสริมสร้างศักยภาพทางการค้าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก (Global Supply Chain) และการผลักดันนโยบายนวัตกรรม (Innovation Policy) เป็นประเด็นทางการค้าการลงทุนมิติใหม่ ซึ่งสมาชิกเอเปคจะร่วมกันจัดทำแผนงานในเรื่องดังกล่าวในปีนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ประเทศสมาชิกเอเปคดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีที่สอดรับกับสภาพแวดล้อมทางการค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการค้าและความมั่นคงทางอาหาร (Food Trade and Food Security) โดยมาตรการทางการค้าที่ประเทศสมาชิกเลือกใช้จะต้องไม่ขัดแย้งต่อกฎเกณฑ์ภายใต้ WTO เช่น ไม่ควรใช้มาตรการห้ามส่งออก และควรเพิ่มความร่วมมือในเอเปคที่เกี่ยวกับอาหารต่อไปด้วย

ประเด็นสำคัญอื่น ๆ เช่น การลดต้นทุน เวลา และเพิ่มประสิทธิภาพของ Global Supply Chain ซึ่งมาตรการที่เอเปคจะดำเนินการ เช่น เร่งรัดการจัดตั้ง Single Window และการใช้ Advanced rulings ในเอเปคหาแนวทางเพื่อกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของสินค้าที่ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม

1.2.2 การสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน (Green Growth)

รัฐมนตรีการค้าเอเปคเน้นย้ำให้สมาชิกเอเปคร่วมกันศึกษาและหาแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการหาแนวทางการส่งเสริมการกระจายการใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รัฐมนตรีการค้าเอเปคเชื่อว่าการดำเนินงานในเรื่องนี้จะช่วยสนับสนุนการค้าและการพัฒนาควบคู่กันไป ขณะที่เจ้าภาพสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิกลด/ยกเลิกมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับการค้าสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อมด้วย

ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันถึงความสำคัญของการดำเนินการเพื่อปราบปรามการค้าไม้เถื่อนตลอดจนสนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ รัฐมนตรีการค้าเอเปคได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เอเปคจัดทำแนวทางการลดขั้นตอนการนำเข้ารถยนต์ประหยัดพลังงานเพื่อจัดแสดงหรือสาธิตการใช้เป็นการชั่วคราว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ประหยัดพลังงาน รวมทั้งจัดทำแนวทางการอำนวยความสะดวกสำหรับการค้าสินค้าใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตใหม่ (Remanufactured Goods) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวด้วยการนำวัสดุอุปกรณ์ที่ยังคงมีสภาพดีกลับมาใช้ และจัดทำแผนงานเพื่อยกเลิกการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบการทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในเรื่องดังกล่าวด้วย

1.2.3 ความร่วมมือด้านการเสริมสร้างความสอดคล้องด้านกฎระเบียบ (Regulatory Convergence and Cooperation)

รัฐมนตรีการค้าเอเปคได้พิจารณากรอบการดำเนินการเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ (Good Regulatory Practice) ในภูมิภาค ที่เชื่อว่าความร่วมมือและการสร้างความสอดคล้องด้านกฎระเบียบในภูมิภาคจะช่วยเสริมสร้างความโปร่งใส (Transparency) และลดต้นทุนการดำเนินการทางเศรษฐกิจทั้งด้านค่าใช้จ่าย เวลาและทรัพยากร โดยรัฐมนตรีการค้าเอเปคได้เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ในการออกกฎระเบียบในภูมิภาคเอเปค เพื่อนำไปสู่การป้องกันและกำจัดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการค้า อย่างไรก็ดี เขตเศรษฐกิจเอเปครวมทั้งไทยเห็นว่า กรอบการพิจารณาในเรื่องนี้ควรมีความยืดหยุ่นเพื่อให้เหมาะสมต่อความแตกต่างของระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก

2. การประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล SMEs

รัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล SMEs ได้หารือร่วมกันเพื่อระบุอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ ที่มีต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในภูมิภาคเอเปค และวางแนวทางการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคต่อไป อันเป็นการสานต่อมติของที่ประชุมรัฐมนตรีและที่ประชุมผู้นำเอเปคเมื่อปี 2553 ว่าด้วยการให้ความสำคัญกับ SMEs ซึ่งมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยมีมติเห็นชอบต่ออุปสรรคทางการค้าที่ SMEs เผชิญในการดำเนินธุรกิจที่เสนอโดยสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วย 9 สาเหตุหลัก คือ (1) การขาดแหล่งเงินทุน/ความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (2) การขาดศักยภาพในการหาช่องทางขยายการค้าข้ามพรมแดนและทำธุรกิจข้ามชาติ (3) ความไม่โปร่งใสของบริบทการค้าสากล (4) ต้นทุนส่วนเกินซึ่งเกิดจากการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่อง (5) ความล่าช้าในการปล่อยของที่ศุลกากรและความซับซ้อนของขั้นตอนพิธีการศุลกากรรวมถึงความซ้ำซ้อนของเอกสารต่าง ๆ (6) ความสับสนของกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง (7) การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (8) การขาดกรอบการทำงานทางกฎระเบียบและความไม่เพียงพอของนโยบายที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนพาณิชย์อิเล็คทรอนิคส์ข้ามพรมแดน และ (9) ความยุ่งยากในการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษี (Preferential tariff rates) และความตกลงทางการค้าต่าง ๆ

ในการนี้ รัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล SMEs ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันวางแนวทางการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคดังกล่าว เพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้นำเอเปคพิจารณาระหว่างการประชุมผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2554 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กรกฎาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ