ผลการประชุมเวทีหารือระดับรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 และการประชุมความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 8

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 13, 2011 11:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมเวทีหารือระดับรัฐมนตรีเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และผลการประชุมความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 8 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ผลการประชุมเวทีหารือระดับรัฐมนตรีเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว รัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสและภาคเอกชนจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้เข้าร่วมหารือเพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ และพิจารณาประเด็นข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ อันเป็นผลจากการประชุมระดมความเห็นจากเวทีหารือในระดับจังหวัดของประเทศสมาชิกตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (มิถุนายน 2553) แนวตอนใต้ (มีนาคม 2554) และแนวเหนือ — ใต้ (พฤษภาคม 2554) โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.1 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Corridors) เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อสนับสนุนแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ตามทิศทางของกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ในทศวรรษหน้า (ปี 2555-2564) การบูรณาการในทุกสาขาความร่วมมือจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีแผนงานโครงการสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาด้านกฎระเบียบเพื่อการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน การพัฒนาเมืองให้สามารถแข่งขันได้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทางถนนที่ขาดหายและมุ่งไปสู่การพัฒนาการขนส่งหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงเส้นทางเชื่อมโยงตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน

ไทยได้ผลักดันให้รัฐบาลจีนและ สปป.ลาว ร่วมมือในการเร่งรัดกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้การก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 (เชียงของ — ห้วยทราย) แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 2555 และขอให้สหภาพพม่าพิจารณาเปิดด่านพรมแดน รวมถึงเชิญชวนให้รัฐบาลพม่า และ สปป.ลาว สนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณแม่สอด — เมียวดี กาญจนบุรี-ทวาย และนครพนม — คำม่วน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาเมืองตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะคลัสเตอร์ (Cluster) ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสนับสนุน

1.2 รับทราบข้อเสนอให้ขยายเส้นทางแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตอนใต้จากกรุงเทพฯ (ไทย) — พนมเปญ (กัมพูชา) — โฮจิมินห์ ซิตี้ (เวียดนาม) ให้เชื่อมต่อมาถึงเมืองทวาย (พม่า) และข้อเสนอการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือและนำเสนอโครงการลำดับความสำคัญสูงที่จังหวัดตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจมีความพร้อมจะดำเนินการร่วมกันในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่าการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจยังมีข้อจำกัดในด้านการคัดเลือกผู้ร่วมเป็นคณะทำงานและยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องขอบเขตการทำงาน จึงมอบหมายให้ ADB ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ พิจารณาปรับปรุงกลไกการดำเนินงานรวมทั้งพิจารณารูปแบบการประชุมเวทีหารือฯ ให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนให้มีการปรับปรุงรูปแบบการประชุมและกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถระดมความเห็นเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนได้มากขึ้น และบริหารจัดการการทำงานของแต่ละแนวพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของคณะกรรมการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับนโยบาย (Policy Level) ระดับบริหาร (Executive Level) และระดับปฏิบัติในพื้นที่ (Corridor Level)

1.3 เห็นชอบการจัดทำแผนพัฒนาภูมิภาค (Regional Plan for Corridor Development) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและมีการติดตามประเมินผลการพัฒนาอย่างครบวงจร โดยการจัดทำแผนพัฒนาฯ จะเน้นการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดน และการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนตามแนวพื้นที่ หลังจากโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนาค่อนข้างครบสมบูรณ์แล้ว และจะเริ่มการประเมินผลการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดนนำร่องก่อนในลำดับแรก

ในส่วนของไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเร่งผลักดันการลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดเวลาในการดำเนินกระบวนการข้ามพรมแดน ให้อยู่ในแผนพัฒนาฯ รวมถึงเสนอให้ ADB จัดทำฐานข้อมูลเชิงเศรษฐกิจมหภาคของแนวพื้นที่เศรษฐกิจเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อประเทศสมาชิกได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

1.4 สนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาครัฐทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และรับทราบความก้าวหน้าของสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Business Forum : GMS-BF) ในการจัดตั้งสมาคมผู้ขนส่งสินค้าของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Freight Transporter’s Association: FREATA) ณ สปป.ลาว เพื่อเป็นเวทีของภาคเอกชนในการร่วมผลักดันโครงการสำคัญในด้านการขนส่งข้ามพรมแดนกับภาครัฐ

ในส่วนนี้ไทยได้ตอบรับที่จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสภาธุรกิจ GMS ประเทศไทย เพื่อนำเสนอโครงการนำร่องความร่วมมือด้านการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้คณะทำงานด้านการลงทุนพิจารณาต่อไป

1.5 เห็นชอบแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยเตรียมการนำเสนอผลการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 (Economic Corridor Forum : ECF-3) ต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและสุดยอดผู้นำของแผนงาน GMS โดยการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 17 มีกำหนดในระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2554 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และการประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 4 มีกำหนดระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 ณ นครเนปิดอว์ สหภาพพม่า ซึ่งสาระสำคัญของทั้งสองการประชุมจะเป็นการหารือกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ในทศวรรษหน้า (ปี 2555-2565)

2. ผลการประชุมความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 8

2.1 เห็นชอบการพัฒนาความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกการค้าและการคมนาคม ตามแนวคิด Asia Cargo Highway ซึ่งเป็นผลจากการหารือระหว่างอธิบดีกรมศุลกากรของประเทศอาเซียนและญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าเมื่อวันที่ 28-29 เมษายน 2554 ณ กรุงพนมเปญ โดยเห็นว่าจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติมโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมความเชื่อมโยงระดับอนุภูมิภาค เช่น ท่าเรือน้ำลึกทวายในพม่า และท่าเรือน้ำลึกวุงอางในเวียดนาม และภาคเอกชนควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนโครงการลำดับความสำคัญสูง ได้แก่ โครงการจัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นในเรื่องการดำเนินงาน 24 ชั่วโมง ณ ด่านพรมแดน ซึ่งญี่ปุ่นจะรับไปดำเนินการจัดสัมมนาดังกล่าว และโครงการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและความเข้าใจกฎหมายและกฎระเบียบในการขนส่งข้ามพรมแดนสำหรับคนขับรถของอนุภูมิภาค ซึ่งไทยจะประสานกับ ADB และญี่ปุ่น เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

2.2 ส่งเสริมให้ฝ่ายเลขานุการฯ กรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (MJ-CI) พัฒนาระบบการทำงานของกรอบความร่วมมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประสานกับผู้แทนของแต่ละประเทศสมาชิก และ ADB ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการแผนงาน GMS อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศเพื่อให้การดำเนินงานมีความสอดคล้องและไม่ซ้ำซ้อนกัน

2.3 เห็นชอบให้ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าและห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและการจัดหาตลาด โดยญี่ปุ่นอยู่ระหว่างจัดทำโครงการในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการอบรมและสัมมนา จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนา SMEs (SMES development fund) และการใช้ระบบ Shindanish เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการ

2.4 เห็นชอบแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยจะมีการหารือร่วมกับภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2555 ณ กรุงเทพมหานคร และนำเสนอในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่อไป ในเดือนสิงหาคม 2554 เมืองมานาโด ประเทศอินโดนีเซีย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กรกฎาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ