สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 11, 2011 10:23 —มติคณะรัฐมนตรี

วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี

จากนั้น นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. เรื่อง สรุปผลการประชุมหารือสถานการณ์อุทกภัย

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมหารือสถานการณ์อุทกภัยตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอดังนี้

ข้อเท็จจริง

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนนกเตนตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2554 ในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศ ส่งผลให้ประชาชน บ้านเรือน ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตร รวมถึงระบบสาธารณูปโภคได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 นายกรัฐมนตรีได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมชลประทาน ประชุมหารือสถานการณ์อุทกภัย การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และการบริหารจัดการปัญหาเรื่องน้ำ สรุปผล ดังนี้

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

  • สถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเตน” ได้ทำให้มีการประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัยและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวม 22 จังหวัด 182 อำเภอ 1,122 ตำบล 8,646 หมู่บ้าน
  • ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 9 จังหวัด 51 อำเภอ 302 ตำบล 2,095 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 101,404 ครัวเรือน 220,913 คน ได้แก่ จังหวัดแพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดมุกดาหาร
  • พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย จำนวน 135,000 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย จำนวน 168,000 ราย
  • พื้นที่ที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต ได้แก่ พื้นที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย อำเภอบางระกำและอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก

2. กลไกการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

  • มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ
  • มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการจังหวัด รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตจังหวัด และมีงบประมาณฉุกเฉินในการแก้ไขปัญหา จำนวน 50 ล้านบาท
  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อบูรณาการการให้ความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน

3. การให้ความช่วยเหลือ

  • กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใช้งบประมาณฉุกเฉิน ในวงเงิน 50 ล้านบาท เพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเขตพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ทำการสำรวจผู้ได้รับความเสียหายร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจะได้ให้ความช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพระยะสั้น ดูแลซ่อมแซมบ้านเรือนคนพิการ และการให้ความช่วยเหลือแก่เด็ก รวมถึงการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดด้วย

4. ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

4.1 ขอให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบการดำเนินงานของศูนย์รับเรื่องราวทุกข์จากประชาชนผู้ประสบอุทกภัย (ศูนย์ฮอตไลน์) สายด่วน 1111 เพื่อบูรณาการการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ แจ้งสถานการณ์อุทกภัยและภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกัน ให้มีความเป็นเอกภาพต่อไป

4.2 ขอให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานในการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร สถานการณ์อุทกภัยและภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงประสานงานกับสื่อมวลชนภาคเอกชนทุกแขนงด้วย

4.3 ให้มีคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนและพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และความเสียหายที่แท้จริง รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทั่วถึงด้วย โดยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ

4.4 ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังรับไปพิจารณา เรื่องการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ให้สามารถดำเนินการออกประกาศได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้จังหวัดสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ยิ่งขึ้น

4.5 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย จัดทำรายงานสถานการณ์อุทกภัยรายจังหวัด ได้แก่ สถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขปัญหา รวมถึงจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานมาแล้ว

4.6 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work shop) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยซ้ำ และการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

4.7 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ติดตามรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และรายงานนายกรัฐมนตรีทราบต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ