สรุปการตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์อุทกภัยของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 — 14 สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 17, 2011 10:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักประสานงานการเมือง สรุปการตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์อุทกภัยของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 — 14 สิงหาคม 2554 ซึ่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น) และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจเยี่ยมประชาชนในพื้นที่และติดตามสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้

  • วันที่ 13 สิงหาคม 2554 ได้ตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัย แพร่ น่าน
  • วันที่ 14 สิงหาคม 2554 ได้ตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี และประชุมร่วมกับส่วนราชการและผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสกลนคร จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดเลย จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดอำนาจเจริญ จากนั้น ได้เดินทางไปรับฟังสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดพิษณุโลก และลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนในจังหวัดพิจิตรด้วย

นายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติภารกิจในการตรวจเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยปลอบขวัญและให้กำลังใจ รวมถึงมอบถุงยังชีพเพื่อเป็นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่ประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีการประชุมร่วมกับจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเกิดอุทกภัย การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และการขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาล

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ส่วนราชการดำเนินการ ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน

1.1 ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เฉพาะหน้าและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

1.2 ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูพี่น้องประชาชน และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็ว

1.3 ให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะๆ และให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลได้มอบหมายให้ศูนย์ฮอตไลน์ สายด่วน 1111 รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ หรือแจ้งข่าวสาร เพื่อจะได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

1.4 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพในการพิจารณาแนวทางในการป้องกันและเตือนภัยจังหวัดอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นอีก รวมถึงการเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย

1.5 ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อพิจารณาการปรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วต่อไป

2. การแก้ไขปัญหาในระยะยาว

2.1 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำข้อมูลและแนวทางในการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบการระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม เสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป

2.2 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work shop) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยซ้ำ และการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

1) นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จัดทำในลักษณะของห้องควบคุมสถานการณ์ (วอร์รูม) เพื่อให้มีการรายงานและติดตามสถานการณ์ ทั้งในส่วนของข้อมูลทางด้านน้ำ อุตุนิยมวิทยา มาตรการในการเตรียมการของจังหวัดต่าง ๆ ที่ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดโดยผ่านกระทรวงมหาดไทย และการเตรียมพร้อมในเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยผ่านทางจังหวัดในการเตรียมพร้อม สำหรับกรณีที่ร่องความกดอากาศต่ำนั้น ได้สร้างผลกระทบที่รุนแรงขึ้น และให้รายงานนายกรัฐมนตรี 24 ชั่วโมง

2) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งประเมินผลกระทบความเสียหาย โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงคมนาคม เร่งประเมินความเสียหายเพื่อจัดทำแผนการฟื้นฟู เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายหลังที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว

3) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่รองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธาน เร่งประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อเตรียมแผนระยะกลาง และระยะยาว

3. ข้อกฎหมาย

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 176 วรรคท้าย บัญญัติว่า ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 สิงหาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ