สรุปสถานการณ์อุทกภัย ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 30, 2011 17:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์อุทกภัย ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร การช่วยเหลือด้านการเกษตร สถานการณ์น้ำ สรุปได้ดังนี้

เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเตน” ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา ประกอบกับปัจจุบันร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทยทำให้ทั่วประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลทำให้เกิดผลกระทบด้านการเกษตรทั้งสิ้นรวม 44 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ เพชรบูรณ์ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์

บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี กรุงเทพ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และชุมพร

ผลกระทบด้านการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ส.ค.54)

ด้านพืช เกษตรกร 379,698 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 3,223,275 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 2,873,602 ไร่ พืชไร่ 254,486 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 95,187 ไร่

ด้านประมง เกษตรกร 42,931 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย แบ่งเป็น บ่อปลา 45,931 ไร่กุ้ง/ปู/หอย 493 ไร่กระชัง/บ่อซีเมนต์ 62,522 ตารางเมตร

ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 32,681 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 2,033,485 ตัว แบ่งเป็น โค—กระบือ 40,947 ตัว สุกร 39,694 ตัว แพ-แกะ 358 ตัว สัตว์ปีก 1,952,486 ตัว แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 3,326 ไร่

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน สุโขทัย ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครพนม สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร นครนายก และปราจีนบุรี

การดำเนินการช่วยเหลือด้านการเกษตร

1. การแจ้งเตือนภัย

1.1 สถานการณ์น้ำ จำนวน 3 ฉบับ (วันที่ 14,17,19 สิงหาคม 2554)

1.2 การคาดการณ์การเกิดอุทกภัย ดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก จำนวน 2 ฉบับ (วันที่ 19 และ 22 สิงหาคม 2554)

2. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ได้เตรียมการไว้ จำนวน 1,365 เครื่อง ปัจจุบันสนับสนุนแล้ว จำนวน 590 เครื่อง ในพื้นที่ 42 จังหวัด

3. สนับสนุนรถยนต์บรรทุกน้ำ เตรียมการไว้ 295 คัน ปัจจุบัน สนับสนุนแล้ว 4 คัน

4. สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 188,815 กิโลกรัม และดูแลสุขภาพสัตว์ 172,962 ตัว แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ 19 ชุด

สถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2554

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ 400 แห่ง มีปริมาณน้ำทั้งหมด ร้อยละ 74 ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ ร้อยละ 41 ของความจุอ่าง มากกว่าปี 2553 จำนวน 16,440 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 18,184 ล้านลูกบาศก์เมตร

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำทั้งหมด 33 แห่ง มีปริมาณน้ำทั้งหมด ร้อยละ 74 ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ ร้อยละ 40 ของความจุอ่าง มากกว่าปี 2553 จำนวน 15,778 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 18,184 ล้านลูกบาศก์เมตร

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำ มากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 5 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์(91%) แม่กวงฯ(89%) แควน้อยฯ(90%) ห้วยหลวง(89%) น้ำอูน(82%)

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำทั้งหมด ร้อยละ 81 ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ ร้อยละ 53 ของความจุอ่าง สามารถรับน้ำได้อีก 4,799 ล้านลูกบาศก์เมตร

2. สภาพน้ำท่า

แม่น้ำปิง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำวัง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก แม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก แม่น้ำยม ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำท่วม แม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำท่วม

แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก

แม่น้ำตาปี ตันหยงมัส โก-ลก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ