มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 30, 2011 17:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2554 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ กรณีการดำเนินการตามมาตรการใดที่ต้องมีการขอใช้งบประมาณ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า

1. ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK TEN) ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ รวม 27 จังหวัด ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงแก่เกษตรกร ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและทันการณ์

2. กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วจึงได้กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติดังกล่าว ดังนี้

2.1 มาตรการด้านการเงิน

ได้กำหนดมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเดิมของธนาคารในเรื่องการพักชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ และลดดอกเบี้ย รวมทั้งให้เงินกู้ใหม่แก่ลูกค้าเดิม และประชาชนทั่วไปเพื่อฟื้นฟูอาชีพและซ่อมแซมบ้าน/อาคารที่เสียหาย โดยลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าปกติ และลดหย่อนเกณฑ์การพิจารณา

2.2 ความช่วยเหลือของกรมบัญชีกลาง

การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรมบัญชีกลางได้ช่วยให้ทางราชการสามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอนุมัติให้จังหวัดที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงและขยายวงเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง ดังนี้

2.2.1 จังหวัดสุโขทัย จำนวน 200 ล้านบาท รวมเป็น 250 ล้านบาท

2.2.2 จังหวัดแพร่ จำนวน 200 ล้านบาท รวมเป็น 250 ล้านบาท

2.2.3 จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 150 ล้านบาท รวมเป็น 200 ล้านบาท

2.2.4 จังหวัดตาก จำนวน 50 ล้านบาท รวมเป็น 100 ล้านบาท

2.3 มาตรการด้านภาษี

2.3.1 ผู้ประสบภัยทั้งบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินชดเชยที่ได้รับจากภาครัฐ

2.3.2 ผู้ประสบอุทกภัยที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ [มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 50 (5) ถึง (8) แห่งประมวลรัษฎากร] ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่าจำนวนความเสียหายที่ได้รับ

2.3.3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและได้รับเงินได้ที่เป็นค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัย ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหายดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาแล้ว

2.3.4 การบริจาคให้ผู้ประสบอุทกภัยผ่านหน่วยงานส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือผ่านเอกชนที่เป็นตัวแทนรับบริจาคที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพากรเพื่อนำไปบริจาคต่อให้กับผู้ประสบอุทกภัยนั้น สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในทางภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ (กรณีผู้บริจาคเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และสามารถบริจาคได้ทั้งเงินและทรัพย์สิน) และไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ (กรณีผู้บริจาคเป็นบุคคลธรรมดาสำหรับการบริจาคเป็นเงินเท่านั้น) ทั้งนี้ ผู้รับบริจาคได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมาถือเป็นเงินได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ

2.3.5 กระทรวงการคลังจะพิจารณาขยายการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีสรรพากรให้กับบางพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยรุนแรงตามความจำเป็นและสมควร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ