ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2554 และแนวโน้มปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 30, 2011 17:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2554 และแนวโน้มปี 2554 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอดังนี้

สาระสำคัญ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 และแนวโน้มปี 2554 เมื่อวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2554 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2554

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 เป็นผลมาจากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการชะลอลงของการลงทุนรวม อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น การส่งออกและภาคการท่องเที่ยวขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2554 และปรับผลของฤดูกาลออกลดลงร้อยละ 0.2 ทำให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยลบ ดังนี้

1.1 ปัจจัยสนับสนุน

1) ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 57,343 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกสินค้าหลัก ๆ ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องปรับอากาศ ขยายตัวร้อยละ 76.2 34.5 และ 33.7 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักยังคงขยายตัว ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 22.7 17.5 35.9 และ 20.3 ตามลำดับ รวมครึ่งแรกของปี 2554 การส่งออกมีมูลค่า 113,344 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 23.1

2) ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยในไตรมาสที่ 2 มีจำนวน 4.37 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.1 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 160.7 65.3 และ 53.2 ตามลำดับ โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 152,864 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.9 อัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 52.2 ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 38.8 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ GDP ในสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.8 ในครึ่งแรกของปี 2554 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเมืองไทยจำนวน 9.67 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1

3) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร จากราคาที่สูงขึ้นของพืชผลหลัก เช่น ยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.4) มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.0) และปาล์มน้ำมัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.7) ประกอบกับอัตราการว่างงานต่ำที่ร้อยละ 0.6 อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 71.3 ปรับลงเล็กน้อยจาก 71.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2554 ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 0.7

1.2 ปัจจัยลบ

1) ภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสแรก เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตหลัก ๆ ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสไดร์ฟหดตัวร้อยละ 19.9 และ 1.4 ตามลำดับ อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ระดับร้อยละ 58.9 ลดลงจากร้อยละ 62.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2554 สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7

2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 4.1 ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 เนื่องจากการลงทุนภาครัฐหดตัวร้อยละ 9.9 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการลดลงของการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่ส่วนใหญ่ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว หรือบางโครงการใกล้จะสิ้นสุด ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.6 ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการชะลอทั้งสิ่งก่อสร้างและเครื่องจักรเครื่องมือ สะท้อนการชะลอจากการนำเข้าสินค้าทุน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) เฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 50.4 ลดลงจากระดับ 53.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2554 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 6.6

2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554

ในการแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2554 สำนักงานฯ คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

2.1 ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2554

1) การปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในช่วงครึ่งปีแรกปริมาณการผลิตรถยนต์ 0.66 ล้านคัน โดยที่เป้าหมายการผลิตที่ 1.8 ล้านคัน ดังนั้น ในปีนี้ปริมาณการผลิตรถยนต์ในครึ่งปีหลังประมาณ 1.14 ล้านคัน หรือขยายตัวร้อยละ 56.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในระยะต่อไป

2) เศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี เป็นการช่วยลดผลกระทบกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนและอินเดีย รวมทั้งเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ยังคงขยายตัว ทำให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง

3) การปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศและความเชื่อมั่นทางการเมือง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้น

4) การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยช่วง 7 เดือนแรกปี 2554 สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่า 205,796 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 89.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

5) รายได้ภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตร จากราคาสินค้าและผลผลิตทางเกษตรที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าว ข้าวโพด และยางพารา

6) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ในครึ่งแรกของปี 2554 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.7 ล้านคน และเดือนกรกฎาคม 2554 มีจำนวน 1.5 ล้านคน รวม 7 เดือนแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยว 11.2 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 26.8 ประกอบกับเศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวได้ดี คาดว่าทั้งปี 2554 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 19.0 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงส่งให้ภาคการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้องขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

7) สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีและสินเชื่อยังคงขยายตัวได้ดี ในครึ่งแรกของปีสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์อยู่ในเกณฑ์สูงถึง 1.485 ล้านล้านบาท ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 16.5 นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

2.2 ปัจจัยเสี่ยง

1) ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

(1) สหรัฐอเมริกา มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยมากขึ้น เนื่องจากอัตราการว่างงานสูงและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีสัญญาการฟื้นตัว ส่งผลให้การบริโภคเอกชนที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำ ประกอบกับความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะ หลังจากสหรัฐ ฯ ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลจาก S&P

(2) สหภาพยุโรป ความกังวลวิกฤติหนี้สาธารณะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น อิตาลีและสเปน นอกจากนี้เศรษฐกิจประเทศสำคัญมีแนวโน้มชะลอลงในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะฝรั่งเศสซึ่งชะลอลงค่อนข้างมากในไตรมาสที่ 2 ประกอบกับการปรับลดการขาดดุลการคลังเข้าสู่กรอบเป้าหมายจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจฝรั่งเศส ส่วนเศรษฐกิจเยอรมันหลังจากขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในครึ่งปีแรกที่ร้อยละ 3.7 ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอลงอย่างชัดเจน จากการลดลงของอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และจีน เนื่องจากเยอรมันเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก (ประมาณร้อยละ 46 ต่อ GDP)

(3) ญี่ปุ่น มีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหวและสึนามิ เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง เงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก และอุปสงค์ภาคเอกชนยังคงมีความอ่อนแอ

2) ตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นกว่าครึ่งปีแรกจากค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ที่อ่อนค่าลง

3) ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มที่จะผันผวน แม้ว่าราคาจะมีแนวโน้มลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจัยเสี่ยงด้านอุปทานและการเก็งกำไรส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

4) เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าแรงกดดันจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัว แต่อุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัวได้ดี และตลาดแรงงานมีความตึงตัวสูงทำให้ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น

5) ความล่าช้าของการใช้จ่ายงบประมาณปี 2555 จะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

6) สถานการณ์การผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ หลังจากปัญหาอุทกภัยเริ่มมีความถี่มากขึ้นนับจากปลายปี 2553 จนถึงในปัจจุบัน

3. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2554 ควรให้ความสำคัญ ดังนี้

3.1 การบริหารจัดการราคาสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้เป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต นอกจากนี้การปรับขึ้นราคาส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการลดลงของปริมาณสินค้า ซึ่งอาจถูกกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า เช่น ภาวะน้ำท่วม ดังนั้นจึงควรมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมทางด้านมาตรการที่จะช่วยลดผลกระทบอย่างทันเหตุการณ์

3.2 การสร้างความมั่นคงให้แก่รายได้ของประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนที่รุนแรงขึ้นของสภาพอากาศ โดยเพิ่มพื้นที่และพัฒนาระบบชลประทาน ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต มีการวางแผนการผลิตที่ชัดเจน และใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงต่าง ๆ

3.3 การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เช่น ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมัน รวมถึงการส่งเสริมการยกระดับการผลิตจากการใช้แรงงานสูงไปสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อลดอุปสรรคจากข้อจำกัดด้านแรงงานตึงตัว

3.4 การเตรียมพร้อมของนโยบาย เพื่อรองรับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน

3.5 การวางนโยบายการคลังอย่างเหมาะสม และเร่งรัดการเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวะที่การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มล่าช้าออกไป และควรเพิ่มบทบาทการลงทุนร่วมจากภาคเอกชนให้มากขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ