คณะรัฐมนตรีรับทราบกำหนดวันและเวลาประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนิติธรรมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 127 กำหนดให้วันประชุมครั้งแรกเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป
2. ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 1 ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 10 สิงหาคม 2554 ที่ประชุมได้มีมติกำหนดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สัปดาห์ละ 2 วัน คือ ทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี
3. ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 1 ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2554 ที่ประชุมได้มีมติกำหนดเวลาประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธ ตั้งแต่เวลา 13.00 นาฬิกา ถึง 21.00 นาฬิกา และในวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 10.00 นาฬิกา ถึง 18.00 นาฬิกา และกำหนดให้วันที่ 21 ธันวาคม เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ
4. รัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้สมัยประชุม แบ่งเป็นสมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ และสมัยหนึ่งๆ ให้มีกำหนดเวลา 120 วัน ดังนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจึงมีวันเปิดและวันปิดสมัยประชุม ดังนี้
ปีที่ สมัยสามัญทั่วไป สมัยสามัญนิติบัญญัติ 1 1 สิงหาคม 2554 — 28 พฤศจิกายน 2554 21 ธันวาคม 2554 — 18 เมษายน 2555 2 1 สิงหาคม 2555 — 28 พฤศจิกายน 2555 21 ธันวาคม 2555 — 18 เมษายน 2556 3 1 สิงหาคม 2556 — 28 พฤศจิกายน 2556 21 ธันวาคม 2556 — 18 เมษายน 2557 4 1 สิงหาคม 2557 — 28 พฤศจิกายน 2557 21 ธันวาคม 2557 — 18 เมษายน 2558
5. สมัยประชุมรัฐสภามี 2 ประเภท คือ
5.1 สมัยประชุมสามัญทั่วไป เป็นสมัยประชุมที่มีขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป โดยจะถือวันประชุมครั้งแรกที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ซึ่งสมัยประชุมนี้รัฐสภาจะพิจารณาเรื่องใด ๆ ก็ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเสนอญัตติหรือการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
5.2 สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ วันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด ซึ่งสมัยประชุมนี้รัฐสภาจะพิจารณาได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 หรือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ การอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กันยายน 2554--จบ--