คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสองปี 2554 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. การจ้างงาน และรายได้ มีดังนี้
1.1 ในไตรมาส 2/2554 การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 1.5 จากการจ้างงานในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น แต่การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงโดยเฉพาะในสาขาการค้าส่ง/ค้าปลีกก่อสร้างและอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้บางอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิตลง อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เป็นผู้ว่างงาน 216,980 คน ลดลงจากร้อยละ 1.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง การว่างงานลดลงในทุกระดับการศึกษา และการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 79.3 สะท้อนถึงโอกาสการทำงานที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการในตลาด
1.2 ตลาดแรงงานยังคงอยู่ในสภาพตึงตัวต่อเนื่อง และมีเครื่องบ่งชี้ถึงข้อจำกัดในการที่จะหาแรงงานมาทดแทนการขาดแคลนดังนี้ (1) การว่างงานลดลงในทุกกลุ่มอายุและทุกระดับการศึกษาและโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน (2) กลุ่มแรงงานที่ทำงานต่ำระดับลดลงต่อเนื่องมีประมาณ 3.84 แสนคนในไตรมาส 2/2554 ชี้ว่าแรงงานที่ยังทำงานไม่เต็มที่กลุ่มนี้มีอยู่น้อย จึงช่วยทดแทนการขาดแคลนแรงงานได้เพียงบางส่วน (3) กลุ่มแรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แต่ไม่ประสงค์จะทำงานเพิ่มมีประมาณ 5.64 ล้านคนในไตรมาส 2/2554 ส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย อายุมาก และอยู่ในภาคเกษตร รวมทั้งอาจมีข้อจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถของแรงงาน จึงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาแรงงานตึงตัวได้ (4) แรงงานรอฤดูกาลประมาณ 2-3 แสนคนและไม่ได้ถูกนับเป็นผู้ว่างงาน
1.3 ความตึงตัวของตลาดแรงงานและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ชี้ถึงแนวโน้มค่าจ้างแรงงานขาขึ้น การปรับเพิ่มรายได้แรงงานในเกณฑ์ใหม่ควรดำเนินการควบคู่กับมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างในระยะต่อไปเป็นลำดับดังนี้ (1) การสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมให้ปรับเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานได้ทันที โดยมีมาตรการจูงใจตามความจำเป็น (2) การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นระยะตามความพร้อมและความจำเป็นของแต่ละจังหวัดภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด โดยพิจารณาเกณฑ์รายจ่ายตามอัตภาพและตามคุณภาพประกอบด้วย (3) การเฝ้าระวังผลกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะสั้น โดยระมัดระวังการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเกินความจริง และการขอความร่วมมือในการปรับราคาสินค้าตามจังหวะเวลาและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม
2. ด้านการศึกษา มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างชัดเจนในระหว่างกลุ่มประชากรที่มีสถานะความเป็นอยู่ที่ต่างกัน กลุ่มเด็กที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยสุดได้รับการศึกษา ระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 1.3 ขณะที่เด็กมาจากครอบครัวที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีสุดเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 90.4 ของประชากรในวัยเรียนในกลุ่มรายได้สูงสุด ในเชิงคุณภาพการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีความแตกต่างระหว่างภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีครัวเรือนยากจนมากสุด มีคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบในชั้นมัธยมต่ำสุด และผลการประเมินสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ยังมีสัดส่วนต่ำ จึงต้องเร่งสร้างโอกาสให้กลุ่มยากจนได้เข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยให้รุ่นต่อไปหลุดพ้นจากวงจรความยากจน
3. ด้านสุขภาพของเด็กยากจนและปัญหาเด็กออทิสติก มีดังนี้
3.1 เด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสยังเผชิญปัญหาโภชนาการส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ พัฒนาการและไอคิวของเด็ก พบว่า ครัวเรือนยากจนมีปัญหาการมีทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม อยู่ร้อยละ 19 ซึ่งกระจุกตัวในภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งมีปัญหาการขาดสารอาหารไอโอดีนของเด็กแรกเกิดมากถึงร้อยละ 16 ส่งผลให้เด็กในภาคอีสานมีไอคิวเฉลี่ยต่ำกว่าในภาคอื่น รัฐจึงควรให้ความสำคัญโดยการอุดหนุนทั้งในรูปของเงินและสิ่งของควบคู่กับการให้ความรู้แก่แม่และหัวหน้าครัวเรือน
3.2 เด็กออทิสติกและเด็กพิการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พบสูงสุดเป็น 4 คนต่อประชากร 1,000 คน เป็นเพศชายมากกว่าหญิง ชีวิตความเป็นอยู่พบว่า 2 ใน 3 ยังมีภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่นตลอดชีวิต มีเด็กออทิสติกวัยเรียนเข้าสู่ระบบการศึกษาเพียงร้อยละ 32.2 ของเด็กวัยเรียนที่เป็นออทิสติก ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นในการเฝ้าระวังและฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กออทิสติกและเด็กพิการโดยเฉพาะกลุ่มที่ยากจนให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
4. ด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทย มีประเด็นเฝ้าระวังหลายด้าน ได้แก่
4.1 พฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อพิจารณาจากผู้มีรายได้ต่ำมีสัดส่วนการใช้จ่ายค่าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการใช้จ่ายรวมมากกว่าผู้มีรายได้สูง โดยที่ค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสัดส่วนร้อยละ 5.8 ของค่าใช้จ่ายรวมสำหรับกลุ่มรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 เทียบกับร้อยละ 4.7 สำหรับกลุ่มรายได้สูงสุดร้อยละ 20
4.2 จากการสำรวจการสูบบุหรี่ของเยาวชนอายุ 13-15 ปี ในปี พ.ศ. 2552 พบการเคยสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุต่ำกว่า 10 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.9 โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนหญิงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.9 ขณะที่สภาพแวดล้อมจากผู้อาศัยอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ทำให้เด็กมีโอกาสได้รับควันบุหรี่มากที่สุดร้อยละ 57.5 ของเด็กอายุ 1-5 ปี และร้อยละ 55.0 ของเด็กอายุ 6-14 ปี รองลงมาได้แก่ พ่อที่อาศัยในบ้านด้วยกันสูบบุหรี่ พ่อสูบในขณะอยู่ในห้องเดียวกับเด็ก และมารดาเด็กสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า เด็กอายุ 1-5 ปี ที่เคยมีประวัติมารดาสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์มีความชุกของการเคยมีวี้ดในอกที่เป็นอาการหอบหืดตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปัจจุบันร้อยละ 30 สูงกว่าเด็กที่มารดาไม่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
4.3 ในด้านพฤติกรรมการบริโภค พบว่า คนไทยนิยมบริโภคอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ในขณะที่พบการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในอาหารถุงนั้นมีถึงร้อยละ 57 ซึ่งกระทบสุขภาพและเกิดสภาวะโรคเรื้อรังต่างๆ เป็นภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ในระยะยาวยังเป็นสาเหตุของความพิการ ความไม่สามารถพึ่งตนเอง เสี่ยงต่อการตกอยู่ในภาวะยากลำบากและยากจน จึงควรมีการให้ความรู้และส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ติดฉลากที่เป็นประโยชน์เข้าใจง่าย เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการเลือกซื้อและบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนออกกำลังกาย บริโภคผักและผลไม้ ตลอดจนกำกับดูแลตรวจสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อคุ้มครองให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ปลอดภัย
5. ด้านความมั่นคงทางสังคม สังคมไทยยังคงเผชิญกับปัญหายาเสพติดที่รุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มวัยแรงงาน 21-25 ปี มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมากที่สุด กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมีแนวโน้มใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้นคือ วัยรุ่นอายุ 7-17 ปี โดยนิยมเสพยาบ้าและยาไอซ์เพิ่มขึ้น การจับกุมยาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 จากไตรมาสสองของปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินการปราบปรามตามมาตรการ 3-1-5 พลเรือน ตำรวจ ทหาร สามารถจับกุมผู้ค้ารายย่อยและขยายผลสู่การจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ นายทุน ผู้ให้การสนับสนุนและผู้เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น สังคมไทยมีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศและผลิตเอง ทำให้มีการปลดปล่อยหรือรั่วไหลของสารพิษระหว่างการขนส่ง การใช้ การกำจัดทิ้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติภัยสารเคมี ซึ่งกลุ่มเสี่ยงมักเป็นแรงงานนอกระบบประสบปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในการทำงานจากสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยส่วนใหญ่ได้รับสารเคมีเป็นพิษร้อยละ 63.7 กลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่มอาชีพเก็บขยะเสี่ยงต่อการได้รับมลพิษหรือสารเคมีตกค้างจากขยะ กลุ่มเกษตรกรเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีจากยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี สำหรับแรงงานภาคบริการ เช่นแรงงานร้านเสริมสวยเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีจากผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ดังนั้น จึงควรมีนโยบายจัดการสารเคมีและสารอันตรายในเชิงรุก ให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีและการจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมี จัดระบบข้อมูลและการส่งต่อข้อมูลอย่างครอบคลุมในทุกระดับ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนมีส่วนได้รับรู้ ร่วมตัดสินใจ และเป็นภาคีร่วมของภาครัฐในการเฝ้าระวัง
6. เรื่องเด่นประจำฉบับ “ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในปี 2553”
6.1 สัดส่วนและจำนวนคนจนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 มีคนจน 5.08 ล้านคนหรือเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 7.8 ลดลงจากร้อยละ 8.12 ในปี 2552 ขณะที่การกระจายรายได้ดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากสัมประสิทธิ์จีนีด้านรายได้ที่ลดลงจาก 0.485 ในปี 2552 เป็น 0.48 ในปี 2553 และสัมประสิทธิ์จีนีด้านรายจ่ายลดลงจาก 0.396 เป็น 0.394 อย่างไรก็ตาม กลุ่มรายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีสัดส่วนรายได้และรายจ่ายเป็น 11 เท่าของผู้มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มที่เฉียดจนหรือเกือบจนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าเส้นยากจนประมาณร้อยละ 20 อีกประมาณ 5 ล้านคน เมื่อรวมกับคนจนจึงมีกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดประมาณ 10 ล้านคน หรือร้อยละ 15 ของประชากรรวม ดังนั้น ปัญหาความยากจนจึงยังมีความสำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่มีคนจนมากถึง 1.2 ล้านคน เนื่องจากปัญหาที่ดินทำกินและความเสี่ยงจากภัยพิบัติและราคาผลผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้พิการก็มีสัดส่วนความยากจนสูงและเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ในขณะที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์และที่ดินที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย การจัดสรรทรัพยากรระหว่างกรุงเทพและภูมิภาคส่งผลต่อการเข้าถึงและความแตกต่างของคุณภาพของการบริการทางสังคม สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ รวมทั้งการเข้าถึงกระบวนยุติธรรม
6.2 ลักษณะครัวเรือนยากจนเป็นข้อจำกัดหลายด้านในการยกระดับคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงโอกาสและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 93 มีการศึกษาระดับประถมและเป็นผู้สูงอายุร้อยละ 49 โดยที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ครัวเรือนร้อยละ 47.2 มีสมาชิกเป็นโรคประจำตัวอย่างน้อย 1 คน และร้อยละ 13.3 มีสมาชิกเป็นผู้พิการ แหล่งรายได้หลักของครัวเรือนยากจนมาจากการรับจ้างและขายผลผลิตร้อยละ 60 รายได้จากคนไปทำงานต่างถิ่นร้อยละ 20 และจากสวัสดิการเบี้ยยังชีพเกือบร้อยละ 10 ซึ่งชี้ว่าเงินอุดหนุนเบี้ยยังชีพมีส่วนสำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนจน สำหรับบริการพื้นฐานส่วนใหญ่ได้รับบริการแล้วแต่ยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึง ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ยังมีอยู่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของเด็กและเป็นความเสี่ยงให้ติดอยู่ในกับดักความยากจน นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขและกลไกที่ทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงบริการหรือร่วมกิจกรรมในชุมชน เช่น แหล่งเงินทุน การแก้ไขหนี้นอกระบบ กลุ่มพันธุ์ข้าว เป็นต้น
6.3 บทบาทของชุมชนสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนจนในชุมชนได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะชุมชนที่ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ยังประสบปัญหาการตลาด พึ่งพิงวัตถุดิบ ขาดเงินทุน ฯลฯ รวมทั้งคนจนยังไม่ค่อยให้ความสนใจ เนื่องจากกลุ่มมักมีผลตอบแทนเป็นเงินปันผลมากกว่าค่าจ้างซึ่งไม่เพียงพอ
6.4 แนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนที่ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ควรพิจารณาใช้ตาข่ายทางสังคมสำหรับกลุ่มที่ยากจนมากและเรื้อรังเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในระดับมาตรฐานขั้นต่ำได้ การให้ความช่วยเหลือแก่คนจนในรูปการอุดหนุน การส่งเสริมศักยภาพชุมชนในการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่คนจน รวมทั้งการให้มีบทบาทเป็นศูนย์ข้อมูลในการรับความช่วยเหลือให้ถึงคนจนอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมอาชีพและการออมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม การสนับสนุนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มคนจน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือและความรู้ทางกฎหมายให้เกิดประโยชน์กับทุกคน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กันยายน 2554--จบ--