แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 — 2558 (รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 7, 2011 17:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้

1. เห็นชอบแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 — 2558

2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นของคณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 — 2558 ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ

3. มอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ตามขั้นตอนต่อไป

4. มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 — 2558 ไปประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติราชการสี่ปีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันหลังจากที่แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 — 2558 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และแผนปฏิบัติราชการประจำปี

5. มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณรับไปพิจารณาแหล่งเงินที่เหมาะสมสำหรับแผนงาน/โครงการ ตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณและรักษาวินัยการคลัง

6. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และรายงานให้คณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินและคณะรัฐมนตรีทราบ

7. เห็นชอบหลักการ กรณีคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนงาน/โครงการเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ปรับปรุงแผนการบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี

สาระสำคัญของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 — 2558 (รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี)

1. องค์ประกอบของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน มีสาระสำคัญประกอบด้วย 4 ส่วน คือ

1.1 แนวคิดและทิศทางการบริหารประเทศ เป็นการสรุปวิสัยทัศน์ สถานการณ์ของประเทศ และกรอบการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล

1.2 แนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายรัฐบาล 8 นโยบาย เป็นการแสดงเป้าหมายเชิงนโยบาย ตัวชี้วัด และกลยุทธ์หรือวิธีดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล

1.3 กลไกการนำแผนการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่การปฏิบัติ ระบุหน่วยงานรับผิดชอบ งบประมาณสนับสนุนตามนโยบาย และแนวทางการติดตามประเมินผล

1.4 แผนงาน/โครงการที่มีลำดับความสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งคัดเลือกจากแผนงาน/โครงการรายนโยบาย 8 นโยบาย

2. ประมาณการความต้องการใช้เงินตามนโยบายรัฐบาล

2.1 ประมาณการการลงทุน วงเงินงบประมาณสนับสนุนตามนโยบาย เป็นการประมาณการความต้องการใช้เงินเบื้องต้น ซึ่งเป็นข้อเสนอตามความต้องการของส่วนราชการเพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล 4 ปี เท่ากับ 11.299 ล้านล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการภาครัฐ 4 ปี รวม 3.878 ล้านล้านบาท รวมเป็นประมาณการความต้องการใช้เงินเบื้องต้นทั้งสิ้น 15.178 ล้านล้านบาท และประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาลเท่ากับ 8.901 ล้านล้านบาท โดยมีแหล่งเงินในการดำเนินโครงการตามนโยบาย ประกอบด้วย เงินในงบประมาณ 10.440 ล้านล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 0.859 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ประมาณการความความต้องการใช้เงินที่ปรากฏในแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ดังกล่าว จะใช้เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติราชการสี่ปีและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของส่วนราชการ เพื่อประกอบการจัดทำคำของบประมาณประจำปีต่อไป โดยแผนงาน/โครงการที่ระบุไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555-2558 ส่วนราชการเจ้าของแผนงาน/โครงการจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

2.2 อย่างไรก็ตาม ประมาณการความต้องการใช้เงินในช่วงปี 2555-2558 ดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและขีดความสามารถในการก่อนหนี้ของภาครัฐภายใต้กรอบการรักษาวินัยการคลัง จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณารายละเอียดความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการลงทุนต่างๆ รวมทั้ง พิจารณาทางเลือกของแหล่งเงินและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อลดภาระงบประมาณและรักษาวินัยการคลัง

3. การติดตามประเมินผล แผนการบริหารราชการแผ่นดิน ได้กำหนดให้มีกลไกการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการ โดยกำหนดขั้นตอนการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าการปฏิบัติงานตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินเป็น 3 ระยะ ได้แก่ (1) การติดตามประเมินผลความก้าวหน้าประจำปี (2) การประเมินผลในระยะครึ่งแผน และ (3) การประเมินผลเมื่อสิ้นสุดแผน

กลไกการกำกับ ติดตามและประเมินผลแผนการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันประกอบด้วย (1) การติดตามผลการปฏิบัติราชการที่ได้มีการแปลงแผนบริหารราชการแผ่นดินไปสู่การปฏิบัติ เช่น แผนปฏิบัติราชการ ซึ่งกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ส่วนราชการกำหนดขึ้น ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกำหนด และ (2) การติดตามผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุให้ภายหลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคเสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง ดังนั้น เพื่อให้การบูรณาการกลไกการกำกับ ติดตาม และประเมินผล เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเห็นควรมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนบริหารราชการแผ่นดิน และรายงานให้คณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินและคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ