สรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 7, 2011 17:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2554) ของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

สรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2554)

1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 5 - 10 กันยายน 2554)

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 5 - 10 กันยายน 2554 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังคงต้องระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือขอให้ระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือไว้ด้วย

2. การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ สาธารณภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์ แล้ว

3. สรุปสถานการณ์อุทกภัย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2554)

เกิดอุทกภัยและมีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวม 39 จังหวัด 330 อำเภอ 2,223 ตำบล 18,214 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,150,890 ครัวเรือน 4,189,286 คน

สถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างฟื้นฟู จำนวน 29 จังหวัด

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 10 จังหวัด 50 อำเภอ 343 ตำบล 2,038 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 122,485 ครัวเรือน 393,808 คน มีผู้เสียชีวิต 66 ราย จากสถานการณ์สำคัญ 3 สถานการณ์ ดังนี้

3.1 สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK - TEN) และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 5 กันยายน 2554)

พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 30 จังหวัด 300 อำเภอ 2,078 ตำบล 17,359 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแพร่ เชียงใหม่ สุโขทัย น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ นครพนม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร เลย เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชัยนาท ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,058,356 ครัวเรือน 3,874,141 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 42 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 13,460 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 2,239,198 ไร่ ถนน 6,004 สาย ท่อระบายน้ำ 1,028 แห่ง ฝาย 647 แห่ง ทำนบ 21 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 525 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง 23,299 บ่อ ปศุสัตว์ 91,041 ตัว มีผู้เสียชีวิต 64 ราย (เสียชีวิต 1 ราย ที่ จ.อุดรธานี สกลนคร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์, เสียชีวิต 2 ราย ที่ จ.ตาก นครพนม ร้อยเอ็ด, เสียชีวิต 3 ราย ที่ จ.เชียงใหม่, เสียชีวิต 4 ราย ที่ จ.ปราจีนบุรี นครสวรรค์, เสียชีวิต 5 ราย ที่ จ.พิษณุโลก, เสียชีวิต 6 ราย ที่ จ.สุโขทัย, เสียชีวิต 7 ราย ที่ จ.แม่ฮ่องสอน, เสียชีวิต 8 ราย ที่ จ.แพร่, เสียชีวิต 17 ราย ที่ จ.พิจิตร) สูญหาย 1 คน (จ.แม่ฮ่องสอน สาเหตุจากดินโคลนถล่ม)

3.1.1 จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างฟื้นฟู จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก และจังหวัดปราจีนบุรี

3.1.2 ปัจจุบันจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย รวม 8 จังหวัด 45 อำเภอ 323 ตำบล 1,922 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 116,379 ครัวเรือน 374,259 คน ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท และจังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้

1) จังหวัดสุโขทัย พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 9 อำเภอ 82 ตำบล 616 หมู่บ้าน 6 ชุมชน ได้แก่ อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย ศรีนคร บ้านด่านลานหอย ทุ่งเสลี่ยม คีรีมาศ และอำเภอกงไกรลาศ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 40,032 ครัวเรือน 119,032 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 7 หลัง เสียหายบางส่วน 6 หลัง พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 299,747 ไร่ บ่อปลา 685 บ่อ ถนน 306 สาย ท่อลอดเหลี่ยม 189 แห่ง ท่อระบายน้ำ 99 แห่ง ฝาย 3 แห่ง บ่อน้ำ 1 แห่ง คอสะพาน 5 แห่ง ประปาหมู่บ้าน 24 แห่ง คลอง 18 แห่ง โรงเรียน 34 แห่ง วัด 27 แห่ง เสียชีวิต 6 ราย (อ.สวรรคโลก 3 ราย อ.ศรีสำโรง 1 ราย อ.เมืองสุโขทัย 1 ราย อ.ศรีสัชนาลัย 1 ราย)

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังอันเนื่องมาจากฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน และน้ำไหลจากจังหวัดแพร่เข้าท่วมซ้ำในพื้นที่ 3 อำเภอ 12 ตำบล 66 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอศรีสำโรง เมืองสุโขทัย และอำเภอกงไกรลาศ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

2) จังหวัดพิจิตร พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 12 อำเภอ 73 ตำบล 446 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอสามง่าม บึงนาราง โพทะเล โพธิ์ประทับช้าง วชิรบารมี เมืองพิจิตร ตะพานหิน บางมูลนาก สากเหล็ก ทับคล้อ วังทรายพูน และอำเภอดงเจริญ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 31,908 ครัวเรือน 95,724 คน พื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ 141,521 ไร่ บ้านเรือนราษฎรเสียหายบางส่วน 1 หลัง ถนน 39 สาย ท่อระบายน้ำ 4 แห่ง ประมง/บ่อปลา 15 บ่อ เสียชีวิต 17 ราย (อ.โพธิ์ประทับช้าง 5 ราย อ.ตะพานหิน 3 ราย อ.เมืองพิจิตร 3 ราย อ.สามง่าม 5 ราย อ.โพทะเล 1 ราย)

ระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัวเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นอำเภอโพทะเล โพธิ์ประทับช้าง และอำเภอบางมูลนาก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

3) จังหวัดพิษณุโลก พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 9 อำเภอ 84 ตำบล 670 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 24,671 ครัวเรือน 78,242 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าได้รับผลกระทบ 339,962 ไร่ บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 2 หลัง ถนน 32 สาย สะพาน 2 แห่ง ท่อระบายน้ำ 1 แห่งวัด 2 แห่ง ปศุสัตว์ 2 ตัว สัตว์ปีก 97 ตัว ประมง/บ่อปลา 156 บ่อ กบ 500 ตัว เสียชีวิต 5 ราย (อ.บางระกำ)

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ 52 ตำบล 401 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก บางระกำ พรหมพิราม และอำเภอบางกระทุ่ม ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 17,615 ครัวเรือน 62,578 คน ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นอำเภอเมืองพิษณุโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

4) จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 11 อำเภอ 58 ตำบล 541 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 30,719 ครัวเรือน 58,415 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 200,071 ไร่ เสียชีวิต 4 ราย (อ.เมืองนครสวรรค์ 1 ราย อ.ท่าตะโก 1 ราย อ.ชุมแสง 2 ราย)

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 8 อำเภอ 32 ตำบล 213 หมู่บ้าน 13 ชุมชน ได้แก่ อำเภอชุมแสง โกรกพระ เมืองนครสวรรค์ เก้าเลี้ยว ตาคลี พยุหะคีรี ท่าตะโก และอำเภอโกรกพระ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 24,404 ครัวเรือน 77,348 คน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

5) จังหวัดอ่างทอง พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 5 อำเภอ 26 ตำบล 99 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองอ่างทอง ป่าโมก ไชโย วิเศษชัยชาญ และอำเภอโพธิ์ทอง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 1,133 ครัวเรือน 2,517 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 7,892 ไร่

6) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 9 อำเภอ 113 ตำบล 597 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอผักไห่ บางไทร บางปะอิน เสนา บางบาล พระนครศรีอยุธยา มหาราช บางปะหัน และอำเภอนครหลวง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 23,874 ครัวเรือน 85,786 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 20,621 ไร่

7) จังหวัดชัยนาท พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 3 อำเภอ 9 ตำบล 60 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท สรรพยา และอำเภอหันคา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,079 ครัวเรือน 12,177 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 18,499 ไร่

8) จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 16 อำเภอ 101 ตำบล 772 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 41,311 ครัวเรือน 181,614 คน อพยพ 365 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 163 หลัง พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 115,334 ไร่ บ่อปลา 181 บ่อ ถนน 175 สาย สะพาน 21 แห่ง ฝาย 2 แห่ง ท่อระบายน้ำ 53 แห่ง วัด 3 แห่ง โรงเรียน 4 แห่ง

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ 5 ตำบล 37 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 781 ครัวเรือน 3,191 คน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

3.2 สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย (ระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม - 5 กันยายน 2554) ส่งผลกระทบในพื้นที่และประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 7 จังหวัด 25 อำเภอ 125 ตำบล 739 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ระยอง พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี และจังหวัดชลบุรี ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 88,428 ครัวเรือน 295,596 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (จ.พังงา) ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัดอยู่ระหว่างการฟื้นฟู

3.3 น้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 - 5 กันยายน 2554 เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง และประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 2 จังหวัด 5 อำเภอ 20 ตำบล 116 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 6,106 ครัวเรือน 19,549 คน ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดนครปฐม

4. การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน

4.1 กระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดส่งทรัพยากรช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ กว่า 3,000 รายการ

4.2 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อาทิเช่น ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย เหล่าทัพต่างๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ

5. การประชุมของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2554 นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาวอย่างเป็นระบบ และเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2554นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับส่วนราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดที่ยังคงประสบอุทกภัย ประกอบด้วย จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอุบลราชธานี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

6. การดำเนินการที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทย

6.1 การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ และบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ครั้งที่ 1/2554 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อรับทราบสถานการณ์อุทกภัย และผลการปฏิบัติการที่สำคัญ รวมทั้งการหารือแนวทาง การดำเนินงานสนับสนุนนโยบายของนายกรัฐมนตรี ทั้งในเรื่องการบูรณาการ และหลักการ 2P2R

6.2 การประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.)

  • วันที่ 30 สิงหาคม 2554 ซึ่ง นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุม ศอส. ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีข้อสั่งการตามมาตรการ 2P2R ดังนี้

1) การเตรียมพร้อม (Preparation)

(1) ให้กระทรวงสาธารณสุขสำรองวัสดุ และเคมีภัณฑ์สำหรับการควบคุมและป้องกันโรค จากน้ำท่วมขังและขยะ ให้กับศูนย์อนามัยและสำนักงานควบคุมโรค เพื่อให้การสนับสนุนจังหวัดเมื่อมีการร้องขอ

(2) ให้ทุกหน่วยที่มีผู้แทนประจำ ศอส. ได้ตรวจสอบกับหน่วยงานของตนเองในพื้นที่ที่มีการแจ้งเตือน ที่ได้มีการสั่งการ เตรียมการ มีผลการปฏิบัติอย่างไร พร้อมทั้งรายงานให้ ศอส.ทราบด้วย

2) การเผชิญเหตุ (Response)

(1) ให้จังหวัดที่ต้องการรับการสนับสนุนน้ำดื่มสะอาด ร้องขอมายัง ศอส. เพื่อ ศอส. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดส่งความช่วยเหลือให้ต่อไป

(2) จังหวัดพังงา ขอรับการสนับสนุนสะพานแบร์ลีย์ จำนวน 2 ชุด ทั้งนี้กรมทางหลวงชนบทได้ให้การสนับสนุน จำนวน 1 ชุด แล้ว และขอให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก ประสานหน่วยทหารในพื้นที่ให้การสนับสนุนสะพานแบร์ลีย์ ให้กับจังหวัดพังงา จำนวน 1 ชุด

(3) ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แจ้งเตือนเครือข่ายทีมกู้ชีพเตรียมความพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ประชาชนผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

3) การฟื้นฟู (Recovery)

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมเกษตรจังหวัด เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 โดยซักซ้อมให้จังหวัด ที่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ ตามหลักเกณฑ์เดิมไร่ละ 606 บาท ไปแล้ว ให้นำเรื่องเสนอต่อ ก.ช.ภ.จ. เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยเกษตรกรกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่จะสามารถให้การช่วยเหลือได้ จึงให้ทุกจังหวัดเร่งสนับสนุนการดำเนินการในส่วนนี้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

4) การป้องกัน (Prevention)

ให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการป้องกันโรคระบาดที่มากับน้ำ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง และโรคมือเท้าปาก โดยให้ความรู้ด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และให้แจกจ่ายแอลกอฮอล์เจล รองเท้าบู้ท ให้กับผู้ประสบอุทกภัย

  • วันที่ 31 สิงหาคม 2554 ซึ่ง นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นประธานการประชุม ศอส. ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีข้อสั่งการตามมาตรการ 2P2R ดังนี้

1) การเตรียมพร้อม (Preparation)

(1) ให้จังหวัดบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมความพร้อมในการรองรับน้ำที่จะสูงขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อน วันที่ 10 กันยายน 2554 เพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย

(2) ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1,2 และ 16 เตรียมความพร้อมยานพาหนะ อุปกรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำ สุขาเคลื่อนที่ สุขาลอยน้ำ เต๊นท์ที่พักชั่วคราว และอื่นๆ ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อมีการร้องขอ

(3) ให้จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เตรียมความพร้อม เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระยะ 1-2 วันนี้ โดยให้จัดเตรียมเครื่องมือ ยานพาหนะ และกำลังพล สำหรับให้การช่วยเหลือ อพยพประชาชนได้ทันที

2) การเผชิญเหตุ (Response)

(1) ให้จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสานรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) (ทหาร) หรือหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ เพื่อขอรับการสนับสนุนกำลังพล เครื่องมือ อุปกรณ์ ยานพาหนะ ในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง

(2) ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานขอรับการสนับสนุนกำลังอาสาสมัคร มูลนิธิ หากจังหวัดใดต้องการรับการสนับสนุนอาสามัคร มูลนิธิ ให้ประสานงานกับศูนย์รับแจ้งเหตุและการสั่งการในพื้นที่ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1669 หรือหมายเลข 0-2965-9782-4

3) การฟื้นฟู (Recovery)

ให้จังหวัดเร่งให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายชัดเจน โดยไม่ต้องรอระดับน้ำลดลง ให้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยทันที และสำหรับพื้นที่ที่มีความเสียหายไม่ชัดเจน ต้องรอสำรวจภายหลังน้ำลด ให้จังหวัดกำหนดแนวทางให้การช่วยเหลือให้แล้วเสร็จโดยด่วน

4) การป้องกัน (Prevention)

ให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการป้องกันโรคระบาดที่มากับน้ำ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง และโรคมือเท้าปาก โดยให้ความรู้ด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือให้สะอาดทุกครั้งและให้แจกจ่ายแอลกอฮอล์เจล รองเท้าบู้ท ให้กับผู้ประสบอุทกภัย

  • วันที่ 1 กันยายน 2554 ซึ่ง นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุม ศอส. ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีข้อสั่งการตามมาตรการ 2P2R ดังนี้

1) การเตรียมพร้อม (Preparation)

กระทรวงสาธารณสุข มีการสั่งการสำนักงานสาธารสุขจังหวัดให้เตรียมพร้อมเวชภัณฑ์ วัสดุ และเคมีภัณฑ์ ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง และอาจก่อให้เกิดโรคระบาด โดยมีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดที่มาหลังน้ำท่วม ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก ไข้หวัด และโรคตาแดง โดยได้ดำเนินการ 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การวินิจฉัยโรค การรายงานผู้ป่วย การยืนยันสอบสวนโรค การวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดทำรายงาน หากมีข้อสงสัย สอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

2) การเผชิญเหตุ (Response)

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ ให้กับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จึงให้ทุกจังหวัดได้ประสานร้องขอรับการสนับสนุนตามความจำเป็น กับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่

3) การฟื้นฟู (Recovery)

ขณะนี้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ได้แจ้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะได้แจ้งให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ดำเนินการในรายละเอียดให้สอดคล้องกับมติ คณะรัฐมนตรีดังกล่าวต่อไป กับจะได้แจ้งให้จังหวัดทราบและให้การสนับสนุนส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

4) การป้องกัน (Prevention)

ให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการป้องกันโรคระบาดที่มากับน้ำ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง และโรคมือเท้าปาก โดยให้ความรู้ด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และให้แจกจ่ายแอลกอฮอล์เจล รองเท้าบู้ท ให้กับผู้ประสบอุทกภัย

  • วันที่ 2 กันยายน 2554 ซึ่ง นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง) เป็นประธานการประชุม ศอส. ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มี ข้อสั่งการตามมาตรการ 2P2R ดังนี้

1) การเตรียมพร้อม (Preparation)

(1) กรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ส่วนกลางได้จัดรายการพิเศษ “ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วมรายงานสถานการณ์” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. และรายงานสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกช่วงข่าว พร้อมทั้งได้มีการรายงานข่าวพยากรณ์อากาศทุกภาคข่าว โดยภาค 07.00 น. และ 19.00 น. ผู้ประกาศของสถานีเป็นผู้อ่านรายงานและหลังข่าวต้นชั่วโมงทุกภาคข่าว เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นผู้รายงานออกอากาศทุกภาคข่าว

(2) ให้กรุงเทพมหานคร แจ้งประชาชนได้รับทราบในทุกช่องทางการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระดับน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการระบายน้ำจากด้านเหนือของประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมการป้องกันและเคลื่อนย้ายสิ่งของที่ได้รับความเสียหายจากระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งให้สำนักงานเขตที่มีพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วย

2) การเผชิญเหตุ (Response)

กรมการปกครอง กรณีเกิดข้อพิพาทของประชาชนในพื้นที่เนื่องจากปัญหาอุทกภัย ให้ฝ่ายปกครองร่วมกับหน่วยราชการในพื้นที่ได้ร่วมแก้ไขปัญหาในการระงับข้อพิพาทของประชาชนในพื้นที่ เพื่อมิให้เกิดปัญหาขยายวงกว้าง และได้ข้อยุติในการแก้ปัญหาร่วมกัน

3) การฟื้นฟู (Recovery)

ด้วยขณะนี้ในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้มีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนว่า เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์เดิมไปแล้วบางส่วน ดังนั้นจึงให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวบรวมข้อมูลการช่วยเหลือฟื้นฟูตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ ทั้งด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับ ศอส.และ คอส.ต่อไปด้วย

4) การป้องกัน (Prevention)

ให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการป้องกันโรคระบาดที่มากับน้ำ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง และโรคมือเท้าปาก โดยให้ความรู้ด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และให้แจกจ่ายแอลกอฮอล์เจล รองเท้าบูท ให้กับผู้ประสบอุทกภัย

  • วันที่ 5 กันยายน 2554 ซึ่ง นายภานุ แย้มศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุม ศอส. ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มี ข้อสั่งการตามมาตรการ 2P2R ดังนี้

1) การเตรียมพร้อม (Preparation)

(1) ให้ทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ผลการป้องกัน แก้ไข ช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ให้กับประชาชนทราบทางสื่อทุกประเภท อย่างต่อเนื่อง และให้ประสานทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนทุกแขนง ถึงการดำเนินการดังกล่าวด้วย

(2) ให้จังหวัดประสานงานกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) นำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาใช้ประโยชน์ในการป้องกัน แก้ไข ช่วยเหลือ และฟื้นฟู พื้นที่ประสบอุทกภัย

(3) เนื่องจากวันที่ 5 กันยายน 2554 เวลา 00.06 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0 ริกเตอร์ บริเวณ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่อง สภาพดินมีความชุ่มน้ำ ซึ่งอาจมีผลกระทบในเรื่องดินสไลด์ได้ ขอให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย

2) การเผชิญเหตุ (Response)

(1) ถนนที่ถูกน้ำท่วม และถนนชำรุด ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำหลักแสดงแนวเขตไหล่ถนน หรือจุดถนนชำรุดให้ชัดเจน เพื่อป้องกันรถและประชาชนตกไหล่ทาง และป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน

(2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจร หรือจัดทำสัญญาณไฟจราจรชั่วคราวในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขัง และสัญญาณไฟฟ้าจราจรไม่สามารถใช้การได้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

(3) ในกรณีที่เสาไฟฟ้าถูกน้ำท่วม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว หรือลัดวงจร เพื่อป้องกันอันตรายกับประชาชน

(4) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีเฮลิคอปเตอร์ประจำที่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา จังหวัดละ 1 ลำ และ จังหวัดพิษณุโลก ยะลา จังหวัดละ 2 ลำ หากจังหวัดมีความจำเป็นต้องใช้ให้ประสานตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุนไปยัง ศปก.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจะได้สั่งการหรือมอบอำนวจให้ตำรวจภูธรจังหวัด ทำหน้าที่แทน

3) การฟื้นฟู (Recovery)

(1) กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่ประสบอุทกภัย มีแนวทางการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ และคนพิการที่ชัดเจนโดยเบื้องต้น ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ในพื้นที่ ออกสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งผู้พิการ กรณีที่ไม่มีญาติดูแล ให้ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยขอรับการสนับสนุนยานพาหนะจากศูนย์นเรนทร 1669

(2) การเยียวยาผู้ประสบภัย กรมสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์สุขภาพจิตในพื้นที่ ออกตรวจประเมินปัญหาสุขภาพจิต พร้อมทั้งติดตามเยี่ยมบ้านผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง

4) การป้องกัน (Prevention)

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมร่วมหัวหน้าส่วนราชการ และผู้ว่าราชการ 9 จังหวัด ที่ยังประสบอุทกภัย ในวันที่ 3 และ 4 กันยายน 2554 ณ ทำเนียบรัฐบาล ว่าการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว ให้จังหวัดจัดทำแผนงาน/โครงการที่จะดำเนินการ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนต่อไป

7. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

7.1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้แก่ราษฎรเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดแพร่ สุโขทัย เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก พิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์ รวมจำนวน 9,200 ชุด

7.2 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ นำชุดธารน้ำใจฯ พระราชทาน ไปมอบให้แก่ราษฎร ที่ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน - 5 กันยายน 2554 ในพื้นที่จังหวัดน่าน เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ หนองคาย พิษณุโลก แพร่ ตาก สุโขทัย อุบลราชธานี พิจิตร เชียงราย มุกดาหาร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอ่างทอง รวมจำนวน 17,846 ชุด น้ำดื่มจากมูลนิธิโคคา-โคลา รวมจำนวน 128,532 ขวด รวมมูลค่า 18,204,940 บาท

7.3 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรราชาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ผู้แทนพระองค์ฯ มอบถุงยังชีพพระราชทานให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ที่จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1,000 ถุง ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 250 ชุด และนมจิตรลดา จำนวน 100 ลัง

7.4 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานให้ นายอภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นผู้แทนฯ มอบถุงยังชีพพระราชทาน ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ 45 ถุง และมอบถุงยังชีพพระราชทานให้ผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดอุดรธานี รวมจำนวน 1,573 ชุด

7.5 สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผู้แทนพระองค์ มอบสิ่งของพระราชทานช่วยเหลือราษฎร ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมจำนวน 7,000 ชุด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ