ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศ ลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 17

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 7, 2011 17:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศ ลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 17 และการประชุมหารือร่วมรัฐมนตรีและภาคเอกชน ครั้งที่ 2

และการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 17 ของแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion: GMS) ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2554 และผลการประชุมหารือร่วมรัฐมนตรีและภาคเอกชนภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Mekong-Japan Economic and Industrial Cooperation: MJ-CI) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ณ กรุงเทพ ฯ และผลการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบความร่วมมือ MJ-CI ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2554 ณ เมืองมานาโด สาธารณรัฐอินโดนีเชีย

2. เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 17 ของแผนงาน GMS เพื่อให้ไทยสามารถแจ้งผลการให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการแก่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ต่อไป

3. เห็นชอบข้อเสนอแผนการดำเนินงานระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนแผนงาน GMS และกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการโดยประสานกับ สศช. ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ ฯ) ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทน ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 17 ในระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2554 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา การประชุมหารือร่วมรัฐมนตรีและภาคเอกชนภายใต้กรอบความร่วมมือ MJ-CI ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ณ กรุงเทพฯ และการประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบความร่วมมือ MJ-CI ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2554 ณ เมืองมานาโด สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีผลการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. การประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 17 : ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รองประธาน ADB เจ้าหน้าที่อาวุโสและภาคเอกชนจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และภาคีการพัฒนาจากภูมิภาคต่าง ๆ

1.1 ผลการประชุมอย่างเป็นทางการของการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 17

1.1.1 ให้ความเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี ดังนี้ 1) รับทราบการดำเนินงานของแผนงาน GMS ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีความก้าวหน้าชัดเจน ได้แก่ การพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้เป็นแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงโครงข่ายทางกายภาพ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่ง และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ และ 2) ทบทวนร่างสุดท้ายของกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่ ระหว่างปี 2555 — 2565

ทั้งนี้ รัฐมนตรีประเทศลุ่มแม่น้ำโขงยกเว้นประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว โดยไทยได้ให้การสนับสนุนในสาระสำคัญ และจะแจ้งยืนยันการให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

1.1.2 รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่สู่การปฏิบัติ โดยกำหนดให้มีการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาทั้งระดับอนุภูมิภาคและตัวชี้วัดรายสาขาให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2554 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 4 ในเดือนธันวาคม 2554

1.1.3 รับทราบการเตรียมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 4 ซึ่งมีกำหนดการประชุมระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 ณ สหภาพพม่า โดยจะมีการนำเสนอกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่ให้ผู้นำพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเตรียมการลงนาม

1.2 ผลการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรี (Ministerial Retreat) : เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่สู่การปฏิบัติ โดยมีรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รองประธาน ADB ผู้ประสานงานของแผนงาน GMS ของแต่ละประเทศ และผู้แทน ADB เข้าร่วมประชุม โดยมีผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้

1.2.1 รับทราบสถานการณ์ดำเนินงานแผนงาน GMS ในระยะที่ผ่านมาและข้อจำกัดที่สำคัญในการขับเคลื่อนกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่สู่การปฏิบัติ

1.2.2 เห็นชอบให้มีการกำหนดแผนแม่บทการพัฒนาระดับภูมิภาคและแผนการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกจะต้องจัดทำแผนชาติให้สอดคล้องและสนับสนุนแผนแม่บทฯ ดังกล่าว

1.2.3 การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระดับภูมิภาค โดยมอบหมายให้ ADB ดำเนินงานในระยะเวลา 7-9 เดือน โดยจัดทำเป็นตารางสถานการณ์พัฒนาให้ทราบภาพรวม

1.2.4 การพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนกรอบยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติ ควรเริ่มที่การพัฒนาและใช้ประโยชน์แผนงานพนมเปญ (Phnom Penh Plan: PPP) ควบคู่กับการวิเคราะห์สถานการณ์พัฒนาในปัจจุบันของแผนงาน GMS และการขยายเครือข่ายภาคเอกชนทั้งในและนอกภูมิภาค

1.2.5 เห็นควรให้พัฒนารูปแบบความร่วมมือกับประเทศและองค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือการพัฒนา โดยอาจยกระดับและเสนอรูปแบบช่องทางการหารือให้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับผู้แทนระดับสูงของประเทศและองค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือฯ

2. ผลการประชุมหารือร่วมรัฐมนตรีและภาคเอกชน ครั้งที่ 2 และการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ภายใต้กรอบความร่วมมือ MJ-CI : ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และผู้แทนภาคเอกชน โดยมีผลการประชุม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

2.1 ให้ความเห็นชอบรายงานความก้าวหน้าภายใต้แผนปฏิบัติการตามข้อเสนอการริเริ่มจัดทำความร่วมมือ MJ-CI และทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไป เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมระดับผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ที่อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2554 ประกอบด้วย 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ 3) การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมสนับสนุน และ 4) การขยายศักยภาพธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมใหม่ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

2.2 เห็นควรให้จัดทำกรอบเวลา และกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการ MJ-CI ให้ชัดเจน เพื่อผลักดันโครงการที่สามารถดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมได้โดยเร็ว

2.3 มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสจัดทำแผนที่นำทาง (Road Map) ของสาขาความร่วมมือที่มีลำดับความสำคัญสูง เพื่อการดำเนินงานแผนปฏิบัติการ MJ-CI ที่สอดคล้องและสนับสนุนแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

2.4 รับทราบการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่สำคัญในช่วงปีที่ผ่านมาภายใต้กรอบความร่วมมือ MJ-CI ประกอบด้วย 1) การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อสร้างท่าเรือ การปรับปรุงอาคารสนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานในเวียดนาม การก่อสร้างสะพานและสายส่งไฟฟ้าในกัมพูชา การก่อสร้างรถไฟฟ้าในประเทศไทย และ 2) การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านต่าง ๆ

3. ข้อเสนอแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนแผนงาน GMS และกรอบความร่วมมือ MJ-CI

3.1 กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เร่งผลักดันและดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ไทยสามารถลงนามและให้ความเห็นชอบเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 ณ นครเนปิดอว์ สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ 19 - 20 ธันวาคม 2554

3.2 สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยผลักดันการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มการมีส่วนร่วมของจังหวัด ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและพื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง

3.3 สศช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดลำดับความสำคัญและผลักดันการดำเนินงานโครงการตามแผนปฏิบัติการ MJ-CI

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ