ร่างพระราชบัญญัติจดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2011 15:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. .... และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้เอกสารใดที่เป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน แล้วไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยจดหมายเหตุแห่งชาติ (ร่างมาตรา 4)

2. กำหนดให้กรมศิลปากรมีอำนาจหน้าที่ประเมินคุณค่าเอกสารและจัดทำทะเบียนเอกสารจดหมายเหตุ และได้กำหนดลักษณะคุณค่าของเอกสารราชการที่หน่วยงานของรัฐพึงเก็บรักษาไว้ (ร่างมาตรา 6)

3. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเก็บรักษาเอกสารราชการในการปฏิบัติงานหรือที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กำหนด เพื่อส่งมอบให้แก่กรมศิลปากรต่อไป (ร่างมาตรา 7)

4. กำหนดให้กรมศิลปากรมีหน้าที่ประเมินเอกสารราชการที่หน่วยงานของรัฐส่งมอบให้และหากประเมิน แล้วว่าเอกสารนั้นมีคุณค่าเป็นเอกสารจดหมายเหตุก็ให้จัดทำทะเบียนไว้เป็นเอกสารจดหมายเหตุและเก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ร่างมาตรา 9)

5. เมื่อปรากฏแก่กรมศิลปากรว่าเอกสารส่วนบุคคลซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ในความครอบครองของบุคคล อาจมีคุณค่าเป็นเอกสารจดหมายเหตุ ให้กรมศิลปากรขอตรวจสอบและประเมินคุณค่าของเอกสารนั้น (ร่างมาตรา 10)

6. เมื่อกรมศิลปากรได้รับมอบเอกสารส่วนบุคคลจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแล้ว ให้กรมศิลปากรจัดทำทะเบียนไว้เป็นเอกสารจดหมายเหตุ เพื่อเก็บรักษาและอนุรักษ์ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ร่างมาตรา 11)

7. กำหนดให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นที่เก็บรักษา อนุรักษ์และให้บริการการศึกษา การค้นคว้า หรือการวิจัยเอกสารจดหมายเหตุ และกำหนดหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ร่างมาตรา 12 - ร่างมาตรา 13)

8. กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดนำเอกสารจดหมายเหตุออกจากหอจดหมายแห่งชาติ เว้นแต่เป็นกรณีนำออกไปเป็นการเฉพาะคราวตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด (ร่างมาตรา 14)

9. กำหนดให้เอกสารจดหมายเหตุหรือสำเนาของเอกสารจดหมายเหตุตามมาตรา 15 ผู้ใดจะนำไปผลิตหรือทำซ้ำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อประโยชน์ในทางการค้ามิได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากอธิบดี (ร่างมาตรา 16)

10.กำหนดห้ามดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการคุ้มครองและอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุมิให้สูญหายหรือถูกทำลายไป ได้แก่ การแก้ไข ดัดแปลง ซ่อมแซม ทำลายหรือทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าเอกสารจดหมายเหตุ การส่งหรือนำเอกสารจดหมายเหตุออกนอกราชอาณาจักร การซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย และปลอมเอกสารจดหมายเหตุ (ร่างมาตรา 17 — ร่างมาตรา 22)

11.กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุขึ้นในกรมศิลปากร และมีคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุมีหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนและวางระเบียบเกี่ยวกับการรับและการจ่ายเงินของกองทุน รวมทั้งวางและถือไว้ ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมเพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบบัญชีของกองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุทุกรอบปีบัญชี (ร่างมาตรา 24 — ร่างมาตรา 28)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ