รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2011 16:20 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 และผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ

ประจำปีงบประมาณ 2554 ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนมีนาคม 2554

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 และผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนมีนาคม 2554 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 และผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนมีนาคม 2554 ดังนี้

1. สถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 หนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 มีจำนวน 4,246,114.68 ล้านบาท หรือร้อยละ41.28 ของ GDP ประกอบด้วย

  • หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,988,845.39 ล้านบาท
  • หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,065,872.13 ล้านบาท
  • หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 160,340.27 ล้านบาท
  • หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 31,056.89 ล้านบาท

หนี้สาธารณะจำนวนดังกล่าวจำแนกตามอายุของหนี้เป็นหนี้ระยะยาว 4,212,107.98 ล้านบาท และหนี้ระยะสั้น 34,006.70 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99.20 และร้อยละ 0.80 ตามลำดับ และจำแนกตามแหล่งที่มาเป็นหนี้ต่างประเทศ 350,331.88 ล้านบาท และหนี้ในประเทศ 3,895,782.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.25 และร้อยละ 91.75 ตามลำดับ

2. ภาพรวมของผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ

ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 กระทรวงการคลังสามารถดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งมีวงเงินรวม 1,291,504.27 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 แผนงานย่อย ได้แก่ แผนการก่อหนี้ใหม่ จำนวน 602,604.17 ล้านบาท แผนการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 608,900.10 ล้านบาท และแผนการบริหารความเสี่ยง จำนวน 80,000.00 ล้านบาท โดยในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนมีนาคม 2554 กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการก่อหนี้ใหม่ การปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารความเสี่ยงแล้ว เป็นวงเงินทั้งสิ้น 513,692.23 ล้านบาท

นอกจากผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะอีกจำนวน 10,000.00 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินและการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 7,500.00 ล้านบาท การกู้เงินระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line จำนวน 2,500.00 ล้านบาท

3. รายละเอียดของผลการดำเนินงาน ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 — เดือนมีนาคม 2554

3.1 การก่อหนี้ใหม่ (วงเงินรวม 197,120.35 ล้านบาท)

3.1.1 รัฐบาล (วงเงิน 182,794.76 ล้านบาท)

(1) การก่อหนี้ในประเทศ

  • กระทรวงการคลังได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงินรวม 113,604.58 ล้านบาท โดยออกพันธบัตรรัฐบาล 9 รุ่น จำนวน 90,400.00 ล้านบาท พันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 2 รุ่น จำนวน 23,000.00 ล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์ 2 รุ่น จำนวน 204.58 ล้านบาท
  • กระทรวงการคลังได้กู้เงินจากสถาบันการเงิน วงเงินรวม 59,960.44 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จำนวน 30,000.00 ล้านบาท และครั้งที่ 2 จำนวน 29,960.44 ล้านบาท

(2) การก่อหนี้ต่างประเทศ

กระทรวงการคลังได้ลงนามสัญญาเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย วงเงิน 9,229.74 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 300.00 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

(3) กู้มาให้กู้ต่อ

กระทรวงการคลังไม่มีการกู้เงินเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ ทั้งในส่วนของเงินกู้ในประเทศและเงินกู้ต่างประเทศ ในช่วงเดือนตุลาคม 2553 — มีนาคม 2554

3.1.2 รัฐวิสาหกิจ (วงเงิน 14,325.59 ล้านบาท)

(1) การก่อหนี้ในประเทศ

รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการกู้เงินในประเทศ วงเงินรวม 14,325.59 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 11,775.59 ล้านบาท ไม่ค้ำประกัน จำนวน 2,550.00 ล้านบาท

(2) การก่อหนี้ต่างประเทศ

รัฐวิสาหกิจไม่มีการดำเนินการก่อหนี้ต่างประเทศ ในช่วงเดือนตุลาคม 2553 — มีนาคม 2554

3.2 การปรับโครงสร้างหนี้ (วงเงินรวม 315,696.88 ล้านบาท)

3.2.1 รัฐบาล (วงเงิน 283,821.37 ล้านบาท)

(1) การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ

  • หนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

กระทรวงการคลังมีตั๋วเงินคลังคงค้างรวม 154,000.00 ล้านบาท ซึ่งเป็นตั๋วเงินคลังเพื่อใช้ในการบริหารดุลเงินสด วงเงิน 80,000.00 ล้านบาท และเป็นตั๋วเงินคลังที่กู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่สะสมมาจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2553 วงเงิน 74,000.00 ล้านบาท

  • หนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้ FIDF
  • หนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ วงเงินรวม 54,600.00 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ ปีงบประมาณ 2554 ครั้งที่ 1 จำนวน 20,000.00 ล้านบาท ออกตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 12 ปี จำนวน 18,900.00 ล้านบาท และออกตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 18 ปี จำนวน 15,700.00 ล้านบาท

(2) การปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศตามแผนงาน ในช่วงเดือนตุลาคม 2553 — มีนาคม 2554

3.2.2 รัฐวิสาหกิจ (วงเงิน 31,875.51 ล้านบาท)

(1) การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ

รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ วงเงินรวม 31,875.51 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 20,712.77 ล้านบาท และการชำระคืนหนี้ จำนวน 11,162.74 ล้านบาท

(2) การปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ

รัฐวิสาหกิจไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ ในช่วงเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนมีนาคม 2554

3.3 การบริหารความเสี่ยง (วงเงินรวม 875.00 ล้านบาท)

3.3.1 รัฐบาล

กระทรวงการคลังไม่มีการบริหารความเสี่ยง ในช่วงเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนมีนาคม 2554

3.2.2 รัฐวิสาหกิจ

การประปานครหลวงได้ดำเนินการชำระหนี้เงินกู้ก่อนครบกำหนด วงเงินรวม 875.00 ล้านบาท

3.4 การกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ

3.4.1 การก่อหนี้ใหม่ (วงเงิน 2,500.00 ล้านบาท)

  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้กู้เงินโดยการลงนามในสัญญาเงินกู้เบิกเกินบัญชีจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,000.00 ล้านบาท เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องการดำเนินงาน
  • บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ได้กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 500.00 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าดำเนินการก่อสร้างโครงการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

3.4.2 การบริหารหนี้ (วงเงิน 7,500.00 ล้านบาท) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้บริหารและจัดการหนี้ วงเงินรวม 7,500.00 ล้านบาท โดยการ Roll-over หนี้ที่ครบกำหนดชำระคืน

4. สรุปผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554

4.1 จากผลการดำเนินงานที่กล่าวมาแล้ว ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — มีนาคม 2554) กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะตามกรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 513,692.23 ล้านบาท โดยมีความก้าวหน้าไปแล้วคิดเป็นร้อยละ 39.77 ของแผนฯ

4.2 ผลการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ในปีงบประมาณ 2554 รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินและบริหารหนี้รวมทั้งสิ้น 10,000.00 ล้านบาท

4.3 จากการดำเนินการตามข้อ 4.1 และ 4.2 กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้กู้เงินและบริหารหนี้รวมทั้งสิ้น 523,692.23 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ จำนวน 199,620.35 ล้านบาทและการบริหารหนี้ จำนวน 324,071.88 ล้านบาท

หน่วย : ล้านบาท

          หน่วยงาน                               ผลการดำเนินงาน
                                   การก่อหนี้ใหม่       การบริหารหนี้           รวม
          - รัฐบาล                  182,794.76       283,821.37    466,616.13
          - รัฐวิสาหกิจ                16,825.59        40,250.51     57,076.10
          รวม                      199,620.35       324,071.88    523,692.23

ทั้งนี้ การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ จำนวน 182,794.76 ล้านบาท จากวงเงินแผนฯ จำนวน 533,285.71 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงต้นปีงบประมาณได้วางแผนที่จะกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 420,000.00 ล้านบาท แต่ในช่วง 6 เดือนแรก กระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินเพียง 113,604.58 ล้านบาท เนื่องจากฐานะเงินคงคลังอยู่ในระดับสูง จึงมีความจำเป็นในการกู้เงินน้อยลงกว่าที่ประมาณการไว้และคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2554 กระทรวงการคลังจะกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในวงเงินไม่เกิน 200,000.00 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าจะจัดเก็บรายได้สุทธิได้สูงกว่าประมาณการไว้มาก ในส่วนของการบริหารหนี้รัฐบาลนั้น ในช่วง 6 เดือนแรก กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้แล้ว จำนวน 283,821.37 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56.51 ของแผนที่วางไว้จำนวน 502,237.67 ล้านบาท

สำหรับการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจจำนวน 57,076.10 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 32,488.36 ล้านบาท และไม่ค้ำประกัน จำนวน 12,550.00 ล้านบาท และเป็นการชำระคืนหนี้ จำนวน 12,037.74 ล้านบาท

ผลของการบริหารหนี้ที่ได้ดำเนินการทั้งในส่วนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ทำให้สามารถลดยอดหนี้คงค้างได้ 12,037.74 ล้านบาท และสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้ 60.00 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ