มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภัยพิบัติปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2011 16:26 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภัยพิบัติปี 2554 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภัยพิบัติปี 2554 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสบอุทกภัยเพื่อประกอบการตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยเป็นผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า ตามที่เกิดอุทกภัยในปี 2554 ทำให้ผู้ประกอบการที่ประสบภัยได้รับความเสียหายอย่างมาก กระทรวงจึงขอเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภัยพิบัติ ปี 2554 โดย ธพว. ดังนี้

1. กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติ ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน (พื้นที่ประสบภัยพิบัติตามประกาศของทางราชการ)

2. วงเงินอนุมัติสินเชื่อรวมของโครงการ

วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท

3. ระยะเวลาโครงการ

สิ้นสุดวันรับคำขอกู้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 หรือเมื่อเต็มวงเงินสินเชื่อรวมของโครงการแล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน

4. คุณสมบัติผู้กู้

4.1 ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

4.2 มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติตามประกาศของทางราชการ ซึ่งเป็นกิจการที่เปิดดำเนินการจริง และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินั้น ๆ

4.3 มีเอกสาร/หนังสือรับรอง ยืนยันการประกอบกิจการตามข้อ 4.2 จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

4.4 ไม่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์หรือล้มละลาย

5. วัตถุประสงค์การกู้

เพื่อใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟูกิจการ และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน

6. วงเงินสินเชื่อต่อราย

วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด

7. ประเภทสินเชื่อและระยะเวลากู้ยืม

7.1 เงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 6 ปี

7.2 ระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 2 ปี

8. อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม

8.1 ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ร้อยละ 8 ต่อปี ตลอดอายุสัญญาโดยแยกเป็น

(1) เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 6 ต่อปีตลอดอายุสัญญา

(2) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 2 ต่อปี ตลอดอายุสัญญาโดย ธพว. ประสานกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ในการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย และเบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง โดยมีประมาณการวงเงินชดเชยรวมไม่เกิน 162 ล้านบาท

8.2 ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.1 ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ โดย เรียกเก็บขั้นต่ำ 100 บาทต่อราย

9. หลักประกัน : ไม่มีหลักประกัน (Clean loan)

10.เงื่อนไขอื่น ๆ

10.1 กรณีผู้กู้ภายใต้โครงการนี้มีกิจการที่เกี่ยวข้องกัน หรือกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกันที่สามารถแยกการดำเนินธุรกิจ และ/หรือสถานประกอบการได้อย่างชัดเจน อนุโลมไม่นับเป็นกลุ่มกิจการเดียวกันหรือผู้กู้รายเดียวกันได้

10.2 ผู้กู้ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง (พร้อมประทับตรา) เพื่อรับรองว่าเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีคุณสมบัติตามโครงการนี้ ตามแบบฟอร์มหนังสือรับรองที่ธนาคารกำหนด

10.3 ให้นำการตรวจสอบประวัติทางการเงิน (Credit Bureau) มาใช้ประกอบการพิจารณา แต่ไม่กำหนดเป็นเงื่อนไขในการปฏิเสธการให้สินเชื่อ

10.4 แยกบันทึกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ (Public Service Account : PSA) ให้ชัดเจน โดยขอรับการชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากรัฐบาล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ