ขออนุมัติการกู้เงินให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2011 15:40 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติการกู้เงินให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการ Airport Rail Link

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ อนุมัติและรับทราบตามที่ กระทรวงการคลัง เสนอดังนี้

1. เห็นชอบแนวทางและรูปแบบในการจัดหาเงินกู้เพื่อทุนหมุนเวียนโดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ วงเงิน 1,860 ล้านบาท โดยมี กค. ค้ำประกันเงินกู้ และให้ รฟท. นำเงินกู้ดังกล่าวมาให้กู้ต่อแก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (บจ. รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.) ตามมาตรา 39 (4) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494

2. อนุมัติให้ กค. ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ รฟท. วงเงิน 1,860 ล้านบาท โดยให้ กค. เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงินตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

3. เห็นชอบเงื่อนไขการรับภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลและการเข้าร่วมถือหุ้นของ กค.

4. รับทราบความเห็นของ กค. เกี่ยวกับการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ (Business model) และแผนการจัดหารายได้ในเชิงพาณิชย์ของ บจ. รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงคมนาคม (คค.) และ บจ. รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ดำเนินการต่อไป

5. รับทราบผลกระทบจากการดำเนินนโยบายค่าโดยสารอัตราเดียว (20 บาท ตลอดสาย) ของรัฐบาลดังนี้

กรณีที่รัฐบาลนำนโยบายค่าโดยสารอัตราเดียวมาใช้ : จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาท ตลอดสาย เฉพาะ City Line พบว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินงานต่อโครงการ Airport Rail Link ดังนี้

ผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ บจ. รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ส่งผลให้กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ติดลบเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2555 — 2562 โดยคาดว่า EBITDA จะเริ่มเป็นบวกได้ในปี 2563 และเมื่อรวมภาระในการชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินสำหรับการลงทุนจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติมในระหว่างปี 2560 — 2674 ประมาณปีละ 200 ล้านบาท จะส่งผลให้ บจ. รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. มีปัญหาการขาดสภาพคล่องและต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกจำนวน 2,983 ล้านบาท โดยมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในระหว่างปี 2555 ถึง 2560 ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท

          ปีงบประมาณ                   2555    2556    2557    2558    2559    2560      รวม
          เงินทุนหมุนเวียน                 420     860     580       -       -       -    1,860
          เงินทุนหมุนเวียน (เพิ่มเติม)        500     500     500     500     500     483    2,983
          รวม                          920   1,360   1,080     500     500     483    4,843

ผลกระทบด้านคุณภาพการให้บริการ (Level of service) เนื่องจากระบบขบวนรถไฟฟ้าธรรมดา (City line) ที่มีอยู่ปัจจุบัน สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดได้ไม่เกิน 42,000 คนต่อวัน และปัจจุบัน (ปี 2554) จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าธรรมดา (City line) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 36,000 คนต่อวัน ดังนั้น หากมีการลดราคาค่าโดยสารและมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้ก็จะส่งต่อคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ และมีข้อจำกัดในการขยายขีดความสามารถ โดยการลงทุนจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติมจะต้องใช้เวลาในการจัดซื้อและผลิตรถไฟฟ้าอย่างน้อย 2 ปี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ