คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมและแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 3
2. เห็นชอบต่อกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดทำแนวเชื่อมต่อเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระยะที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 รวมทั้งมอบหมาย ทส. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยหากมีความจำเป็น โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีก และมอบหมายให้ ทส. แจ้งเห็นชอบให้เสนอเอกสารดังกล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 4 (The 4th GMS Summit)
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้คณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2554 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
2. ในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 3 มีการออกแถลงการณ์ร่วมและให้การรับรองกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดทำแนวเชื่อมต่อเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระยะที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 (Core Environment Program and Biodiversity Conservation Corridors Initiative (CEP-BCI) Phase II Program Framework Document 2012-2016) ซึ่งสาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมและกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ เป็นการแสดงความยินดีต่อการดำเนินความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่างประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินความร่วมมือตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ระยะที่ 2 โดยมิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และใช้วิธีการรับรอง (Endorse) โดยไม่มีการลงนาม ดังนั้น แถลงการณ์ร่วมและกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ระยะที่ 2 จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ร่วมและกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ระยะที่ ๒ อาจมีผลผูกพันรัฐบาลไทยในเชิงนโยบาย จึงจำเป็นที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี
3. นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในการกำหนดมาตรการร่วมกันในการจัดการความท้าทาย เพื่อบรรลุการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน รวมทั้งการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อให้มีการพัฒนาควบคู่กับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
4. ผู้แทนประเทศสมาชิก GMS ได้ร่วมกันหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นในการดำเนินงานตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2549-2554 และได้ร่วมกันพิจารณาแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งจะเป็นเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุม โดยหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวถึงความสำเร็จของประเทศไทยและผลที่ได้รับภายใต้แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ และตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤติการณ์ด้านต่างๆ ที่ส่งผลคุกคามต่อมนุษยชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นรูปแบบการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน โดยที่ประเทศไทยเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) จะเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้น้อมนำเอาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีความสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยยินดีที่จะร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิก GMS ธนาคารพัฒนาเอเชีย หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และองค์กรต่างๆ ต่อไป เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกัน คือ การขจัดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งขอให้ประเทศสมาชิก GMS ใช้โอกาสในการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2012 (Rio+20) สะท้อนความต้องการของอนุภูมิภาคให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว
5. ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเอกสารที่เป็นผลลัพธ์ของการประชุมจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
5.1 กรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดทำแนวเชื่อมต่อเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระยะที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 (Core Environment Program and Biodiversity Conservation Corridors Initiative (CEP-BCI) Phase II Program Framework Document 2012-2016) ซึ่งมีสาระสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการระบบนิเวศน์ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะบูรณาการมาตรการต่างๆ กับการดำเนินงานของสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเกษตร การคมนาคม การท่องเที่ยว และพลังงาน โดยจะมีการดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการวางแผนการพัฒนา วิธีการและมาตรการปกป้องและปรับปรุงการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ในเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการพัฒนาคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเรื่องการเงินที่ยั่งยืนสำหรับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยแจ้งต่อที่ประชุมว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถให้การรับรองเอกสารกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ได้ เนื่องจากจำเป็นต้องผ่านกระบวนการภายในประเทศก่อนและจะแจ้งผลการดำเนินการให้ธนาคารพัฒนาเอเชียในฐานะฝ่ายเลขานุการของกรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม GMS ทราบต่อไป เพื่อนำเสนอที่ประชุมสุดยอดผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 4 (The 4th GMS Summit) ในเดือนธันวาคม 2554 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ พิจารณาให้การรับรอง (Endorse) ต่อไป
5.2 แถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 3 (Joint Statement for the 3rd GMS Environment Ministers’ Meeting) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแสดงความยินดีต่อการดำเนินความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่างประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินความร่วมมือตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ระยะที่ 2 ซึ่งหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ให้ข้อคิดเห็นต่อร่างแถลงการณ์ร่วม และแจ้งว่าประเทศไทยจะต้องผ่านกระบวนการภายในประเทศก่อนให้การรับรองกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ระยะที่ 2 ทั้งนี้ ผู้แทนไทยได้หารือในคณะ ทำงานยกร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement Drafting Group) พร้อมผู้แทนประเทศสมาชิก GMS และผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยผู้แทนไทยมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อคิดเห็นเพื่อให้ร่างแถลงการณ์ร่วมมีความกระชับ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ร่วมกันและเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานต่อไปมากที่สุด โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
5.2.1 ยืนยันในข้อตกลงร่วมกันที่จะปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ร่วมกันในการบูรณาการให้เกิดความกลมกลืนและความเจริญของอนุภูมิภาค และเพื่อให้อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นผู้นำในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและสนับสนุนจุดมุ่งหมายสูงสุดของการประชุมว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และยินดีต่อการสนับสนุนของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในการดำเนินงานตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ และการขยายผลสู่การดำเนินการระยะที่ 2
5.2.2 สนับสนุนการพัฒนาสีเขียว รวมทั้งเศรษฐกิจที่สมดุลย์ และแสวงหาการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ การลดความไม่เท่าเทียมทางเพศและทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างงานสีเขียว และยืนยันที่จะร่วมกันสนับสนุนการเจริญเติบโตที่สมดุลย์และจะบูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการดำเนินงานของสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเกษตร การคมนาคม การท่องเที่ยว และพลังงาน รวมทั้งแผนการลงทุนตามแนวเขตเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคด้วย
5.2.3 ความพยายามในการดำเนินการผ่านแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันและขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ในประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร การมีพลังงานที่เพียงพอและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเน้นในเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และการลดปัญหาความยากจนในอนุภูมิภาค
5.2.4 รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้การรับรองในหลักการต่อเอกสารกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดทำแนวเชื่อมต่อเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระยะที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยให้การสนับสนุนในหลักการต่อเอกสารกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ดังกล่าว และขอให้ธนาคารพัฒนาเอเซียสนับสนุนประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในการใช้ประโยชน์จากความรู้และงบประมาณที่มีอยู่อย่างเหมาะสม รวมทั้งขอให้หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาสนับสนุนประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไปในการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่เกี่ยวกับการลดความยากจนและการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
6. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่มีข้อขัดข้องในด้านสารัตถะของกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2555-2559) ทั้งนี้ มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่าเนื่องจากประเทศในลุ่มน้ำโขงล้วนเป็นประเทศที่มีศักยภาพในทางท่องเที่ยวค่อนข้างสูงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านท่องเที่ยวควรทำงานร่วมกันแบบบูรณาการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กันยายน 2554--จบ--