แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2011 15:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนย่อย

2. อนุมัติการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555

3. อนุมัติให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงินเงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 แต่หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

4. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายให้เป็นผู้ลงนามผูกพันการกู้เงินและหรือการค้ำประกันเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กค. จะรายงานผลการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2549

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้ประชุมเพื่อพิจารณาแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 โดยพิจารณาให้ความเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้

1. แผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ ที่คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและรับทราบในปีงบประมาณ 2554 มีวงเงินดำเนินการรวมทั้งสิ้น 1,420,987.66 ล้านบาท ประกอบด้วยแผนงานย่อย 4 แผนงาน

1.1 แผนงานย่อยที่ 1-3 ได้แก่ แผนการก่อหนี้ใหม่แผนการปรับโครงสร้างหนี้ และแผนการบริหารความเสี่ยง (รวมวงเงิน 1,287,004.60 ล้านบาท) นั้น เป็นแผนที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะจะพิจารณาให้ความเห็นชอบการบรรจุวงเงินกู้และบริหารหนี้ในแผนตามความเหมาะสมและจำเป็น

1.2 สำหรับแผนงานย่อยที่ 4 ได้แก่ แผนการบริหารจัดการหนี้ของรัฐวิสาหกิจ (วงเงิน 133,983.06 ล้านบาท) คณะกรรมการฯ มีมติให้แยกกิจกรรมดังกล่าวออกมา โดยไม่ต้องขออนุมัติภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะแต่ยังคงต้องดำเนินการตามขั้นตอนการกู้เงินอื่น และรายงานให้คณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

2. กรอบการพิจารณาตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ มีดังนี้

2.1 นโยบายของรัฐบาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2.2 หลักเกณฑ์การพิจารณาความต้องการกู้เงินและบริหารหนี้เพื่อบรรจุในแผนฯ

2.3 สภาพคล่องในระบบการเงิน

3. รายละเอียดของแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ

3.1 แผนการก่อนหนี้ใหม่

3.1.1 การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงินรวม 396,372.06 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) หนี้ในประเทศ (เพื่อชดเชยการขาดดุล) วงเงิน 350,000.00 ล้านบาท (2) หนี้ต่างประเทศ วงเงิน 31,000 ล้านบาท และ (3) หนี้ในประเทศ (รัฐบาลกู้มาเพื่อให้กู้ต่อ) วงเงิน 15,372.06 ล้านบาท

3.1.2 การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ (วงเงินรวม 72,794.70 ล้านบาท) ประกอบด้วย (1) หนี้ในประเทศ วงเงิน 69,094.70 ล้านบาท และ (2) หนี้ต่างประเทศ วงเงิน 3,700.00 ล้านบาท

3.2 แผนการปรับโครงสร้างหนี้

3.2.1 การปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล : หนี้ในประเทศวงเงิน 520,122.45 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) หนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ/เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ และ (2) หนี้เงินกู้เพื่อชดเชยใช้ความเสียหายให้ FIDF วงเงิน 340,122.45 ล้านบาท

3.2.2 การปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจ : หนี้ในประเทศ วงเงิน 120,715.39 ล้านบาท

3.3 แผนการบริหารความเสี่ยง มีแนวทาง ดังนี้

3.3.1 การบริหารความเสี่ยงหนี้ที่จะก่อใหม่

3.3.2 การบริหารความเสี่ยงหนี้คงค้าง แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) หนี้ต่างประเทศ และ (2) หนี้ในประเทศ

3.4 แผนการบริหารจัดการหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติภายใต้กรอบแผน ฯ ประกอบด้วย

3.4.1 การก่อหนี้ใหม่ ประกอบด้วย (1) เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และ (2) เงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line

3.4.2 การบริหารหนี้ ประกอบด้วย (1) การปรับโครงสร้างหนี้ และ (2) การบริหารความเสี่ยง

4. ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้ฯ

4.1 ภาพรวมของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 มียอดหนี้สาธารณะคงค้าง 4,263,393.22 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.69 ของ GDP ประกอบด้วยหนี้ต่างประเทศ 344,279.79 ล้านบาทและหนี้ในประเทศ 3,919,113.43 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.08 และร้อยละ 91.92 ตามลำดับ

4.2 แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 มีวงเงินดำเนินการ 1,287,004.60 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) แผนการกู้เงินใหม่ 469,166,76 ล้านบาท (2) แผนการปรับโครงสร้างหนี้ 640,837.84 ล้านบาท และ (3) แผนการบริหารความเสี่ยง 177,000 ล้านบาท

4.3 เมื่อรวมวงเงินการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินกู้และบริหารหนี้ของแผนฯ อีกจำนวน 133,983.06 ล้านบาท จะทำให้วงเงินดำเนินการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2555 มีวงเงินเท่ากับ 1,420,987.66 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) แผนการกู้เงินใหม่ 508,776.27 ล้านบาท (2) แผนการปรับโครงสร้างหนี้ 641,007.84 ล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศทั้งสิ้น และ (3) แผนการบริหารความเสี่ยง 271,203.55 ล้านบาท

4.4 กรอบวงเงินดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(1) พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(2) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549

4.5 การก่อหนี้ใหม่ทั้งหมดจะสามารถระดมทุนได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายของภาครัฐ

4.6 กค. สามารถกำกับดูแลให้มีปริมาณการออกพันธบัตรอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอที่จะสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark) เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ