การสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2011 15:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบให้หนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อใช้เป็นความตกลงระหว่างสหประชาชาติกับรัฐบาลไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาและการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน การแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุด และการสร้างแนวทางปฏิบัติสากล เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2010 ยังคงมีผลใช้ได้เนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสาระสำคัญของการเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาและการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน การแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุด และการสร้างแนวทางปฏิบัติสากล

2. อนุมัติให้ถือปฏิบัติว่าหากมีการเพิ่มเติมใด ๆ ในเอกสารข้อตกลงในเรื่องเดียวกันนี้ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ รวมทั้งไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจพื้นที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายสามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอีก

3. อนุมัติให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา เป็นผู้แจ้งยืนยันกับสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime-UNODC) ในนามรัฐบาลไทยว่าหนังสือแลกเปลี่ยนฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2010 ยังมีผลใช้ได้และรัฐบาลไทยยืนยันการขอรับการสนับสนุนจาก UNODC ในการจัดสัมมนาและการประชุมนานาชาติฯ ในครั้งนี้ ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงยุติธรรมโดยสำนักงาน ป.ป.ส. รายงานว่า

1. การสัมมนาและการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน การแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุด และการสร้างแนวทางปฏิบัติสากล ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (2 พฤศจิกายน 2553) นั้น สืบเนื่องมาจากประเทศไทยและประเทศเปรูได้ร่วมกันเสนอร่างข้อมติเรื่อง“Promoting best practices and lessons learned for the sustainability and integrality of alternative development programmes” ซึ่งผ่านการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs-CND) สมัยที่ 52 เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยข้อมติดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเลือกในฐานะแนวทางหนึ่งในการดำเนินนโยบายเพื่อลดการปลูกพืชเสพติดที่ยั่งยืน รวมทั้งยอมรับบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาที่ดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกจนเกิดความเชี่ยวชาญและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ซึ่งในการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 53 เมื่อเดือนมีนาคม 2553 ประเทศไทยและประเทศเปรูได้ร่วมกันเสนอข้อมติที่ 53/6 ในการร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาและการประชุมนานาชาติฯ โดยรัฐบาลไทยได้กำหนดจัดกิจกรรมดังกล่าวในวันที่ 12-29 พฤศจิกายน 2553 แต่มีการเลื่อนออกไป เนื่องจากผู้แทนระดับสูงที่สำคัญของ UNODC ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมการสัมมนาได้ ประกอบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในยุโรปหลายประเทศติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมาร่วมสัมมนาได้ ทำให้ไม่ได้ความหลากหลายของกลุ่มประเทศจากภูมิภาคต่างๆ

2. ในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 54 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ประเทศไทยและประเทศเปรูได้แจ้งยืนยันการดำเนินการตามข้อมติดังกล่าวที่ประเทศไทยและประเทศเปรูจะเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาและการประชุมนานาชาติฯ ในปี 2554-2555 อีกครั้งหนึ่ง โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเดือนพฤศจิกายน 2554 และประเทศเปรูได้ยืนยันที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติในปี พ.ศ. 2555

3. กระทรวงยุติธรรมโดยสำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และ UNODC เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2554 ณ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางเลือกแล้ว ยังจะเป็นการแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการพัฒนาทางเลือกและเพื่อเทิดพระเกียรติในวโรกาสที่จะทรงมีพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษาในปี 2554 อีกด้วย

4. การจัดการสัมมนาและการประชุมนานาชาติฯ ครั้งนี้ UNODC จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ เนื่องจากถือว่าเป็นการประชุมในกรอบสหประชาชาติและจำเป็นต้องใช้คณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา (United Nations Office in Vienna-UNOV) และ UNODC เพื่อที่เอกสารรายงานการประชุมจะได้มีรูปแบบที่ถูกต้องตามรูปแบบของสหประชาชาติ (UN Format) สำหรับการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 55 ทั้งนี้ UNODC ได้มีหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Letter) ถึงเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา แจ้งประมาณการค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับการทำหน้าที่ของคณะเจ้าหน้าที่จาก UNOV และ UNODC ในการเป็นฝ่ายเลขานุการ พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลไทยโอนเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 69,647 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ UNOV ภายในเดือนกันยายน 2554 และให้รัฐบาลไทยยืนยันว่าหนังสือแลกเปลี่ยนฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2010 ยังคงมีผลใช้ได้เนื่องจากไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสาระสำคัญ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ