การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง สรุปผลการประชุมหารือสถานการณ์อุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2011 15:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง สรุปผลการประชุมหารือสถานการณ์อุทกภัย และรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. ได้รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (11 ส.ค. 54, 16 ส.ค. 54) ดังนี้

1. กษ. ได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยซ้ำ และการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้มีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 เพื่อกำหนด แนวทางการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประธานและกรมทรัพยากรน้ำเร่งตรวจสอบแผนงานในความรับผิดชอบที่มีความพร้อมสามารถดำเนินงานได้ทันทีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เพื่อดำเนินการในระยะเร่งด่วน โดยเริ่มในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยซ้ำซากตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการก่อนและให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการนำแผนงานของกรมทรัพยากรน้ำมาบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนากรมชลประทานระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นแผนการบริหารจัดการน้ำใน 25 ลุ่มน้ำ ที่กรมชลประทานได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และวันที่ 1 มีนาคม 2554

2. กรมชลประทานได้ประชุมหารือร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 เพื่อพิจารณา แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำได้รับทราบแนวทางการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และจะเร่งจัดทำข้อมูลแผนงานที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการได้ทันทีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ให้กรมชลประทานเพื่อนำมาบูรณาการร่วมกับแผนการบริหารจัดการน้ำใน 25 ลุ่มน้ำของกรมชลประทาน ส่วนแผนการดำเนินงานในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินการ กรมชลประทานจะประสานให้กรมทรัพยากรน้ำร่วมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในโอกาสต่อไป นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกในวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ที่จังหวัดพิษณุโลก

3. กษ. โดยกรมชลประทานและ ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ณ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในระดับจังหวัด เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากหอการค้าจังหวัด ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนจากสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัด ผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ คณะกรรมการลุ่มน้ำยม-ลุ่มน้ำน่าน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อชี้แจงความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนรับทราบสาเหตุ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ภาครัฐจะสามารถดำเนินการได้ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งพิจารณาแผนงานโครงการเร่งด่วนที่กรมชลประทานได้บูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำแล้ว ตามข้อ 2 โดยกรมชลประทานจะนำข้อคิดเห็นจากการประชุมครั้งนี้ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป ซึ่งผลการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปได้ดังนี้

3.1 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ผู้ร่วมประชุมได้อภิปรายและแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และได้พิจาณาเห็นชอบแผนงานโครงการระยะเร่งด่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการ และสามารถดำเนินการได้ทันทีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 รวมทั้งสิ้น 9 ประเภทงาน 149 รายการ แยกเป็นแผนงานในลุ่มน้ำยม 83 รายการ ลุ่มน้ำน่าน 66 รายการ ซึ่งแผนการดำเนินงานดังกล่าวจะประกอบด้วยงานที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี และงานที่ต้องผูกพันงบประมาณมากกว่า 1 ปีขึ้นไป คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น 21,902.997 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างอีก 138.9 ล้านบาท) นอกจากนั้น ยังมีแผนงานในส่วนที่ภาคประชาชนเสนอให้ดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำจะได้นำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา หากโครงการมีความเหมาะสมก็จะเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งนี้ กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำได้นำโครงการระยะเร่งด่วน ทั้ง 149 รายการเสนอไว้ในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เพื่อจะได้ดำเนินการตามแผนงานต่อไป

3.2 ปัจจุบันมีปัญหาอุปสรรคคือมีข้อจำกัดในการดำเนินงานคือ เรื่องความพร้อมของโครงการในส่วนที่ราษฎรเสนอให้ดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งบางส่วนยังไม่มีการพิจารณาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม และการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอีกระยะหนึ่ง

3.3 ในส่วนของแนวทางการแก้ไขนั้น สำหรับโครงการที่ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำจะเร่งพิจารณาดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ และหากโครงการมีความเหมาะสม ก็จะเสนอขอดำเนินการก่อสร้างตามขั้นตอนโดยเร็วต่อไป

4. การจัดทำแผนงานในระยะกลางและระยะยาว กรมชลประทานจะนำแผนงานของกรมทรัพยากรน้ำมาบูรณาการกับแผนการบริหารจัดการน้ำใน 25 ลุ่มน้ำของกรมชลประทาน และร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำแผนงานโครงการ ในลักษณะเดียวกับแผนงานระยะเร่งด่วนต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กันยายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ