คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณดำเนินการโดยโอนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 21,900,000 บาท ซึ่งไม่มีความจำเป็นในการดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เพื่อไปดำเนินการในพื้นที่อื่น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการยกระดับราคาข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงให้เกษตรกร โดยการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายรัฐบาล ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยให้ยกเว้นการปฏิบัติการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553
ข้อเท็จจริง
1. กรมการค้าภายใน ได้มอบหมายให้หน่วยงานใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตามการดำเนินงานในการส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตฯ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ พบว่า จากการประเมินผลผลิต ปี 2554 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เขต 9 ได้คาดการณ์ผลผลิตผลไม้ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2554 มีจำนวนรวม 89,981 ตัน ลดลงจากปี 2553 ประมาณ 66,191 ตัน คิดเป็นร้อยละ 42.83 และการติดตามสถานการณ์ผลผลิตในพื้นที่ของสำนักงานการค้าภายในจังหวัดต่าง ๆ พบว่าปริมาณผลผลิตมีน้อยเป็นไปตามที่มีการประเมินไว้ จึงไม่มีปัญหาด้านราคา ทำให้ไม่มีความจำเป็นในการดำเนินการเชื่อมโยงผลไม้จากแหล่งผลิตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว
2. รัฐบาลมีนโยบายปรับเปลี่ยนมาตรการประกันรายได้มาดำเนินการตามมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือนได้รับทราบมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล รวมถึงข้อมูลด้านการผลิต การตลาด วิธีการรับจำนำ ราคารับจำนำ หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการได้ทันท่วงที และทันต่อเหตุการณ์ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่จะจำหน่ายข้าวเปลือกได้ราคาสูงเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยกำหนดจะเริ่มโครงการในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 กรมการค้าภายในจึงได้จัดทำค่าใช้จ่ายในการยกระดับราคาข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงให้เกษตรกร วงเงิน 21,900,000 บาท โดยมุ่งเน้นการจัดทำประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ธง กขช. สำหรับแสดงถึงโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ โปสเตอร์ แผ่นพับ และสื่อวิทยุ เป็นต้น เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกบรรลุตามวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กันยายน 2554--จบ--