คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในฐานะผู้ประสานงานแห่งชาติระหว่างประเทศไทยกับ IAEA (International Atomic Energy Agency) ร่วมกับผู้ประสานงานโครงการแห่งชาติของการประชุมตอบรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับ IAEA โดยให้เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้ลงนามในหนังสือตอบ IAEA ตามร่างหนังสือตอบรับการเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
วท. รายงานว่า
1. ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเรื่องนี้ไปแล้ว (มติ ครม. 3 พ.ค. 54) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยได้ให้ขอคิดเห็นถึงการประชุม IAEA/RCA Final Progress Assessment Meeting ภายใต้กรอบโครงการภูมิภาค RAS/7/016 “Establishing a Benchmark for Assessing the Radiological Impact of Nuclear Power Activities on the Marine Environment in the Asia-Pacific Region” ระหว่างวันที่ 3-7 ตุลาคม 2554 ว่า IAEA ยังมิได้แจ้งข้อเสนออย่างเป็นทางการ มีเพียงการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้ประสานงานของไทย จึงยังไม่มีเนื้อหาหรือประเด็นที่จะพิจารณาได้ ดังนั้น เมื่อ วท. ได้รับหนังสือเสนอให้จัดประชุมนี้อย่างเป็นทางการจาก IAEA แล้ว จำเป็นต้องเสนอหนังสือดังกล่าวพร้อมด้วยร่างหนังสือตอบรับของฝ่ายไทยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเช่นเดียวกัน
2. ต่อมา กต. โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้มีหนังสือถึง วท. เพื่อแจ้งว่า IAEA ได้มีหนังสือขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IAEA/RCA Final Progress Assessment Meeting ภายใต้กรอบโครงการภูมิภาค RAS/7/016 “Establishing a Benchmark for Assessing the Radiological Impact of Nuclear Power Activities on the Marine Environment in the Asia-Pacific Region” ระหว่างวันที่ 18-21 ตุลาคม 2554 โดยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ กต. มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว จำเป็นจะต้องพิจารณาในแง่ของข้อกฎหมายอย่างรัดกุม ซึ่งหนังสือ IAEA และหนังสือตอบรับของฝ่ายไทยน่าจะเข้าข่ายเป็นการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับ IAEA จึงจำเป็นต้องเสนอหนังสือของ IAEA และร่างหนังสือตอบรับของไทยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
3. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติพิจารณาแล้วเห็นว่า สาระในหนังสือทาบทามการเป็นเจ้าภาพข้างต้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 วรรคสอง เนื่องจากสาระของความตกลงมิได้มีในบทบัญญัติเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ซึ่งการจัดทำหนังสือสัญญาในลักษณะนี้ยังไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือ จึงเห็นควรให้ปฏิบัติตามแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 กันยายน 2550
4. การประชุมครั้งนี้ในหัวข้อ “การสร้างเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการประเมินทางรังสีวิทยาที่มีผลต่อกิจกรรมของพลังงานนิวเคลียร์ด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค (อาร์ซีเอ)” มีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการและประเมินผลที่ได้จากการดำเนินโครงการและพิจารณาความก้าวหน้าในการบรรลุผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการที่คาดหวังไว้ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 18 คน จาก 13 ประเทศ และผู้แทนจาก IAEA ณ จังหวัดภูเก็ต โดยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นเจ้าภาพ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ตุลาคม 2554--จบ--