ขอความเห็นชอบโครงการ (CBFCM)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 12, 2011 17:17 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบโครงการ Integrated Community-based Forest and Catchment Management through

an Ecosystem Service Approach (CBFCM)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทน ลงนามร่วมกับผู้แทน UNDP ในเอกสารโครงการ Integrated Community-based Forest and Catchment Management through an Ecosystem Service Approach (CBFCM)

2. อนุมัติในหลักการว่า ก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีการแก้ไขร่างข้อเสนอโครงการในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของ ทส.

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. ทส. ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ได้จัดทำและส่งข้อเสนอโครงการ Integrated Community-based Forest and Catchment Management through an Ecosystem Service Approach (CBFCM) ไปยังกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการฯ เป็นระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2554-2559) ในรูปเงินสด (In Cash) วงเงิน 1,758,182 ดอลลาร์สหรัฐ โดย ทส. สนับสนุนงบประมาณที่ไม่อยู่ในรูปเงินสด (In kind) วงเงิน 12,210,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การส่งข้อเสนอโครงการดังกล่าว ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงานเชิงปฏิบัติของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF Operation Focal Point) ของประเทศไทย ได้ให้การรับรองข้อเสนอโครงการ และคณะมนตรีกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอโครงการอนุมัติวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ จำนวน 1,758,182 ดอลลาร์สหรัฐ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเอกสารโครงการฉบับสมบูรณ์ (Project Document) ให้ GEF พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเริ่มดำเนินโครงการ

2. ทส. ร่วมกับ UNDP จัดทำเอกสารโครงการ CBFCM โดย ทส. จะต้องสนับสนุนงบประมาณสมทบที่ไม่อยู่ในรูปเงินสด (In Kind) ในสัดส่วน 3 เท่า ของงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจาก GEF ซึ่ง ทส. พิจารณาจากแผนงาน/โครงการที่ดำเนินงานโดยงบประมาณปกติของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 12,210,000 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นงบประมาณตามแผนงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำจำนวน 11,450,000 ดอลลาร์สหรัฐ (355,000,000 บาท) การสมทบบุคลากร อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์และยานพาหนะ จำนวน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ (23,560,000 บาท) พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดกิจกรรมโครงการและแผนการดำเนินโครงการ ซึ่งขณะนี้ได้เสนอเอกสารโครงการ CBFCM (Project Document) ให้ GEF พิจารณาแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 และสำนักเลขาธิการกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF Secretariat) มีความเห็นให้ปรับปรุงเพิ่มเติม และ ทส. ได้ปรับแก้ไขตามความเห็นของ GEF Secretariat แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจาก GEF Secretariat

3. การดำเนินโครงการ CBFCM เป็นความตกลงของฝ่าย UNDP กับผู้ปฏิบัติฝ่ายไทย (Implementing Partner) คือ ทส. โดย ทส. ต้องสนับสนุนงบประมาณสมทบที่ไม่อยู่ในรูปเงินสด (In kind) โดยสนับสนุนแผนงาน/โครงการที่ดำเนินงานโดยงบประมาณปกติของหน่วยงานในสังกัด ทส. เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 12,210,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องผูกพันรัฐบาลในแง่นโยบาย จึงควรนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนลงนาม

4. การดำเนินโครงการ CBFCM เป็นการสร้างกลไกการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายด้านการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ลุ่มน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ของประเทศ โดยคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศเชิงลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งประยุกต์ใช้กลไกการประเมินมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติ (Payment for Ecosystem Service : PES) รวมทั้งกลไกทางการเงินในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากสาขาชีวภาพ (biocarbon financing mechanism) มาเป็นตัวกำหนดค่าตอบแทนหรือชดเชย เพื่อรักษาระบบนิเวศที่สมบูรณ์เอาไว้ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กร โดยการเสริมสร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ดีต่อชุมชนท้องถิ่น และผู้ที่ดูแลรักษาทรัพยากร รวมทั้งผู้ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นในทางสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม เพื่อลดความขัดแย้งในการพัฒนา อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของ ทส. ในการประสานนโยบายและแผนงาน กฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้กลไก PES และ biocarbon financing ในการตอบแทนหรือชดเชยคุณค่าของระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายในการดำเนินงานภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย โดยคาดหวังว่าจะมีการขยายผลการดำเนินโครงการซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ PES และ biocarbon ในพื้นที่นำร่องใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่สา (ภาคเหนือ) ลุ่มน้ำท่าจีน (ภาคกลาง) ลุ่มน้ำลำเซบาย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และลุ่มน้ำเกาะพะงัน (ภาคใต้)

5. ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ประกอบด้วย การสร้างศักยภาพเชิงนโยบายและเชิงองค์กรในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้หลักการ PES และ biocarbon สาธิตการประยุกต์ใช้กลไก PES ในพื้นที่นำร่อง เพื่อขยายพื้นที่ที่มีการบูรณาการการจัดการทรัพยากรป่าไม้ และลุ่มน้ำ

6. หน้าที่ความรับผิดชอบของ ทส. ในการดำเนินโครงการฯ คือ การกำหนดกรอบแนวทางและแผนการดำเนินโครงการ ให้สามารถเชื่อมโยงกับประเด็นยุทธศาสตร์ของ ทส. และอำนวยการ ประสานการดำเนินงาน ให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการ (Project Board) โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน เพื่อกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ ให้บรรลุผลตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดย ทส. จะสนับสนุนการดำเนินงานในลักษณะที่ไม่อยู่ในรูปของตัวเงิน (In kind) และร่วมลงนามในเอกสารโครงการ ร่วมกับ UNDP เพื่อยืนยันการรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

7. หน้าที่ความรับผิดชอบของ UNDP ในการดำเนินโครงการฯ คือ การเป็นหน่วยสนับสนุนโครงการ (Project Assurance) มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการโครงการในการกำกับดูแลโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด และติดตามตรวจสอบโครงการ เพื่อให้โครงการดำเนินไปตามกรอบระยะเวลา

8. ทส. ได้เสนอเอกสารโครงการฉบับสมบูรณ์ ให้ GEF Secretariat พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งการลงนามความร่วมมือจะดำเนินการภายหลัง GEF Secretariat ให้ความเห็นชอบต่อเอกสารโครงการแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้ได้รับการอนุมัติวงเงินที่ขอรับการสนับสนุนจำนวน 1,758,182 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2553 และคาดว่า GEF Secretariat จะพิจารณาให้ความเห็นชอบกับเอกสารโครงการ และมีผลให้เริ่มดำเนินโครงการได้ ภายในเดือนกันยายน 2554 ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนงาน/โครงการ ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวได้ตามกำหนด และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบโดยเร็ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 ตุลาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ