รายงานผลการดำเนินงานในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประจำไตรมาส 4 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 26, 2011 21:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประจำไตรมาส 4 ปี 2553 และงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 90 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรายงานว่า บสท. ได้เสนอผลการดำเนินงานในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประจำไตรมาส 4 ปี 2553 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2553 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

บสท. ได้บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจนได้ข้อยุติทั้งหมดแล้วจำนวน 15,201 ราย มูลค่าทางบัญชี 774,952 ล้านบาท สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริหารจัดการจนได้ข้อยุติดังกล่าว สามารถแบ่งตามวิธีบริหารจัดการได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.1 กลุ่มที่มีข้อยุติโดยวิธีการปรับโครงสร้างหนี้หรือฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง มีจำนวนทั้งสิ้น 7,586 ราย มูลค่าทางบัญชี 426,462 ล้านบาท หรือร้อยละ 55.03 ของมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้ข้อยุติทั้งหมด ในส่วนนี้ได้ข้อยุติโดยวิธีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 7,486 ราย มูลค่าทางบัญชี 354,342 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจำนวน 100 ราย มูลค่าทางบัญชี 72,121 ล้านบาท ได้ข้อยุติโดยวิธีฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง

1.2 กลุ่มที่มีข้อยุติโดยวิธีการบังคับหลักประกันหรือพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา 74 และ 58 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 จำนวน 7,614 ราย มูลค่าทางบัญชี 348,069 ล้านบาท และตัดจำหน่ายเป็นหนี้สูญมีจำนวน 1 ราย มูลค่าทางบัญชี 421 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.92 และร้อยละ 0.05 ของมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทีได้ข้อยุติทั้งหมด

2. การบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย

บสท. ได้รับโอนทรัพย์สินจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (“ทรัพย์สินรอการขาย”) มูลค่ารวม 2,183 ล้านบาท ทั้งนี้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 บสท. ได้รับโอนทรัพย์สินรอการขายด้วยมูลค่าตีโอนชำระหนี้ และรับโอนตามมาตรา 76 รวมทั้งสิ้น 141,487 ล้านบาท แบ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 117,578 ล้านบาท และสังหาริมทรัพย์มูลค่า 23,908 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.10 และร้อยละ 16.89 ตามลำดับ

3. ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนงานเตรียมการเพื่อเลิกดำเนินกิจการโดยยุบเลิก บสท. เมื่อสิ้นปีที่สิบ

3.1 ประมาณการตัวเลขประมาณการสินทรัพย์ หนี้สิน กำไร (ขาดทุน) ของ บสท. ณ สิ้นปีที่สิบ

หน่วย : ล้านบาท

          การบริหารจัดการ                            ประมาณการ          ผลการดำเนินงาน          ประมาณการสินทรัพย์/
          สินทรัพย์                                    ปี 2553           ม.ค. — ธ.ค. 2553           หนี้สินคงเหลือ
                                              (ตาม KPls ปี 2553)                               ณ 30 มิ.ย. 2554
          การชำระเงินตามแผนปรับโครงสร้างหนี้             13,820                20,938                  43,767
          การจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย (NPA)              7,400                23,527                  85,926
          การไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน*                       7,417                12,751                  72,514
  • บสท. ชะลอการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องในการยุบเลิกองค์กรตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ทั้งนี้ประมาณการว่าจะมีเงินสอสำรอง ณ สิ้นปีที่สิบ ประมาณ 47,595 ล้านบาท

3.2 ความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนการยุบเลิก

3.2.1 ประกาศยกเลิกการสอบราคาจัดจ้างที่ปรึกษาในการจัดกองสินทรัพย์คงเหลือประเภทสิทธิเรียกร้องเพื่อประมูลขาย เนื่องจากบริษัทฯ เสนอราคาค่าจ้างสูงเกินกว่าวงเงินงบประมาณการจัดจ้างที่ปรึกษาของ บสท. ที่ได้รับอนุมัติมาก

3.2.2 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชี บสท. เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชี บสท. ให้ครอบคลุมการดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องในการชำระบัญชี บสท. ตามที่กฏหมายกำหนด

3.2.3 จัดทำประมาณการการกันเงินสำรองเพื่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับการชำระบัญชีสำหรับระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2554 — 8 มิถุนายน 2556 ซึ่งประกอบด้วยประมาณการจ่ายทั่วไปจำนวน 660.20 ล้านบาท และเงินชดเชยคดีความทั่วไปที่ บสท. ถูกฟ้อง (ไม่รวมคดีที่ถูกฟ้องเรื่องการจำนำเครื่องจักร) จำนวนเงิน 1,139,80 ล้านบาท

3.2.4 ปรับปรุงกรอบเวลาการจัดทำฐานข้อมูลสินทรัพย์คงเหลือประเภทสิทธิเรียกร้องเพื่อการประมูลขายเป็นเพื่อการยุบเลิก บสท. เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเป็นนัยว่า บสท. ไม่มีอำนาจขายสินทรัพย์คงเหลือประเภทสิทธิเรียกร้องของ บสท. ก่อนวันเลิกดำเนินกิจการ บสท. เมื่อสิ้นปีที่สิบ

3.2.5 จัดประชุมกับสถาบันผู้โอนเดิมทั้งหมดรวม 23 สถาบัน โดยรายงานผลการดำเนินการของ บสท. ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 ต่อสถาบันผู้โอน

3.2.6 ฝ่ายจัดการได้ปรับปรุงแนวทางการดำเนินการและกรอบระยะเวลาในการหน่ายทรัพย์สินรอการชายเพื่อการยุบเลิก บสท. โดยจะขายทรัพย์สินรอการขายเป็นรายแปลงทุกรายการไปจนถึงวันยุบเลิก บสท. (วันที่ 8 มิถุนายน 2554) ทรัพย์สินส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถขายได้จะนำมารวมเป็นกองทรัพย์สินเพื่อขายหลังวันยุบเลิก บสท.

3.2.7 คณะทำงานบริหารจัดการเอกสารเพื่อเตรียมการยุบเลิก บสท. (“คณะทำงานบริหารจัดการเอกสารฯ”) ดำเนินการจัดเตรียมเอกสารที่จะเปิดห้องเก็บข้อมูล (Data Room) ให้สถาบันผู้โอนเข้าดูข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 และส่งมอบให้กับคณะกรรมการชำระบัญชีเมื่อยุบเลิก บสท. โดยสแกนเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้

3.2.8 ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรการ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านบุคลากรเพื่อการยุบเลิก บสท. ด้านพนักงาน อาคารสถานที่และเอกสารทรัพย์สินและพัสดุ ปี 2553 — 2554

4. สตง. ในฐานะผู้สอบบัญชี มีความเห็นว่า งบการเงินของ บสท. แสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 และ 2552 ผลการดำเนินงาน (เฉพาะทุนประเดิม) การเปลี่ยนแปลงสำหรับรายรับหรือรายจ่ายสุทธิรอปันส่วนไปยังสินทรัพย์รับโอนและกระแสเงินสดสำหรับปีสิ้นสุดวันเดียวกันของแต่ละปีของ บสท. โดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามเกณฑ์การจัดทำงบการเงินที่กำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ตุลาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ