คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 37 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้บัญชาอนุมัติให้นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ เอฟ เอ โอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) สมัยที่ 37 ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน — 2 กรกฏาคม 2554 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี สรุปสาระสำคัญของการประชุมมีดังนี้
1. ผลการประชุมสมัชชามีดังนี้
1.1 ขณะนี้ สมาชิกทั้งหมด เอฟ เอ โอ มี 191 ประเทศสมาชิกสมทบ 2 ประเทศ และอีก 1 องค์กร (EU) โดยมีประเทศโตเกเลา (Tokelau) เป็นสมาชิกสมทบล่าสุด
1.2 นาย Jacques Diouf ผู้อำนวยการใหญ่ เอฟ เอ โอ ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงองค์กร เอฟ เอ โอ ตลอดเวลาที่ตนอยู่ในตำแหน่งให้ทันสมัย จนปัจจุบัน เอฟ เอ โอ ได้รับความเชื่อถือส่งผลให้ได้รับงบประมาณบริจาคโดยสมัครใจมากขึ้น
1.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับความเสมอภาคของสตรีไทยและบทบาทสำคัญของสตรีไทยในการผลิตทางการเกษตรพร้อมเน้นย้ำว่าความเสมอภาคทางเพศจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทิศทางการดำเนินงานของ เอฟ เอ โอ จากผลของการปฏิรูปองค์กรที่มีการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น จึงหวัดว่าฝ่ายบริหาร เอฟ เอ โอ จะรับฟังข้อเสนอที่ให้คงศูนย์บริการร่วมที่กรุงเทพฯ และที่ซานติอาโกไว้
1.4 นาย Jos’e Graziano da Silva ผู้สมัครชาวบราซิลได้รับเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ เอฟ เอ โอ แทน Mr. Jacques Diouf ชาวเซเนกัล ซึ่งจะสิ้นสุดวาระในปลายปี 2554 โดยจะเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 — 30 มิถุนายน 2557
1.5 ประเทศไทยได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภามนตรี เอฟ เอ โอ ต่ออีกวาระหนึ่ง (3 ปี) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2555 — 30 มิถุนายน 2558
1.6 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนงานปี 2555 — 2556 ซึ่งจะเน้นในเรื่อง
1) ความมั่นคงด้านอาหาร โภชนาการ และความปลอดภัยด้านอาหาร
2) การปรับปรุงและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ป่าไม้
3) การจัดการทรัพยากรพันธุกรรมทางพืช ประมง และปศุสัตว์อย่างยั่งยืน
4) การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร รวมถึงเรื่องของโรคพืชและโรคสัตว์ต่าง ๆ
5) การป้องกันและรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคการเกษตร
1.7 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอัตราการจ่ายเงินสมทบค่าบำรุงสมาชิกสำหรับปีงบประมาณ 2555 — 2556 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดโดยพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น GNP ของแต่ละประเทศ และการเป็นหนี้สิน เป็นต้น ซึ่งอัตราการจ่ายเงินสมทบของประเทศไทย เพิ่มขึ้นอีก 0.023 คือ จากร้อยละ 0.187 เป็นร้อยละ 0.210 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.30 ส่งผลให้ปี 2555 -2556 ประเทศไทยต้องจ่ายเงินสมทบค่าบำรุงสมาชิก จำนวน 2.131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 66 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31.0 บาท)
2. ข้อคิดเห็นของ กษ.
2.1 ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติคนใหม่มาจากประเทศกำลังพัฒนา (บราซิล) และเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์การทำงานอยู่ใน เอฟ เอ โอ น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย
2.2 แม้มติของสมัชชาจะให้คงศูนย์บริการร่วมที่กรุงเทพฯ ซานดิอาโก้ไว้ แต่ในมติยังคงระบุว่าเป็นการคงไว้ชั่วคราวก่อนในขณะนี้เพราะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการคงศูนย์ทั้งสองแห่งนี้ไว้ อย่างไรก็ดี การที่นาย Graziano ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ระหว่างการหาเสียงว่าจะทบทวนข้อเสนอเรื่องการยุบรวมศูนย์บริการร่วมใหม่ ก็นับว่าเป็นการให้ความมั่นใจได้ ในระดับหนึ่งว่า ศูนย์บริการร่วมที่กรุงเทพฯ และซานดิ อาโกน่าจะคงอยู่ต่อไป
2.3 แผนงานและงบประมาณของปี 2555 — 2556 ซึ่งที่ประชุมสมัชชาได้ให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ ในส่วนของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกค่อนข้างสอดคล้องกับความต้องการของภูมิภาคที่นำเสนอไว้ในการประชุมสมัชชาภูมิภาคและคณะกรรมการด้านวิชาการต่าง ๆ ดังนั้น การมีส่วนร่วมในการนำเสนอท่าทีหรือความต้องการของประเทศไทยในการประชุมสมัชชาภูมิภาคและคณะกรรมการทางวิชาการต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่และทิศทางการดำเนินงานของ เอฟ เอ โอ ให้เป็นประโยชน์และตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ
2.4 ที่ประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ สมัยที่ 37 ได้มีมติเห็นชอบอัตราการจ่ายเงินสมทบค่าบำรุงสมาชิก สำหรับปีงบประมาณ 2555 — 2556 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่องค์การสหประชาชาติกำหนด โดยอัตราการจ่ายเงินสมทบของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.023 คือ จากร้อยละ 0.187 เป็นร้อยละ 0.210 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.30 ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกมากขึ้น
2.5 ประเทศไทยมีเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แรงงานของสมาชิกในครัวเรือน หากมีการประกาศให้ปี 2557 เป็นปีสากลเกษตรกรรมในครัวเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะได้วางแผนจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าวร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรกรรมในครัวเรือนในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน ในชุมชน และในระดับประเทศ และเรียกร้องให้มีการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในลักษณะที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ตุลาคม 2554--จบ--