แผนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 26, 2011 22:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการของแผนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในระยะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะของการช่วยเหลือระหว่างที่ระดับน้ำในพื้นที่ยังท่วมสูง และมอบหมายให้สำนักงบประมาณรับไปพิจารณาความเหมาะสมในรายละเอียดของงบประมาณและนำเสนอคณะรัฐมนตรี

2. มอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม กำกับ ติดตาม เร่งรัด และรายงานผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อ 1. ให้คณะรัฐมนตรีทราบ ทั้งนี้ หากกรณีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปและพิจารณาเห็นว่าต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินงานสัมฤทธิผลอย่างแท้จริง ให้จัดทำมาตรการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

3. เห็นชอบในหลักการของแนวทางการดำเนินการในระยะการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดแล้ว และระยะการปรับโครงสร้างถาวร โดยมอบหมายผู้เกี่ยวข้องพิจารณาในรายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป ดังนี้

1. มอบหมายคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม จัดทำแนวทางและแผนการดำเนินการ ในระยะการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดแล้ว เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

2. มอบหมายคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลืออุทกภัย ดินโคลนถล่ม วาตภัย และคลื่นชายฝั่ง จัดทำแนวทางและแผนการดำเนินการในระยะการปรับโครงสร้างถาวร เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

สาระสำคัญของแผนดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและแนวทางการฟื้นฟูภายหลังน้ำลด

ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2554 ส่วนราชการได้เสนอแนวทางและแผนการดำเนินการในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและการฟื้นฟูอย่างเป็นทางการ จำนวน 8 กระทรวง ได้แก่ นร. (กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) กษ. พม. คค. ทส. รง. สธ. และ ศธ. นอกจากนี้ สำนักงานฯได้ประสานข้อมูลจากกระทรวงและส่วนราชการต่างๆ เพิ่มเติมอีก 10 กระทรวง รวมเป็น 18 กระทรวง ซึ่งมีข้อเสนอกรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 81,506 ล้านบาท สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. แผนการดำเนินการระยะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มุ่งเน้นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งบรรเทาความเสียหายของผู้ประกอบการ วงเงินงบประมาณ 1,027 ล้านบาท โดยสรุปมาตรการที่สำคัญได้ดังนี้

(1) การป้องกันความเสียหายและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยจัดทำคันกั้นน้ำช่วงที่มีน้ำท่วมขังสูง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำและการป้องกันพื้นที่ชุมชนรวมทั้งพื้นที่อุตสาหกรรม

(2) การสนับสนุนการขนส่ง วัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจนสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นสำหรับประชาชนไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่อยู่ในศูนย์อพยพ และอยู่ในพื้นที่อุทกภัย รวมถึงการจัดส่งถุงยังชีพให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และการแจ้งให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ประสบปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการจัดเรือท้องแบนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

(3) การจัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้แก่ผู้ประสบภัย รวมถึงการจัดรถรับส่งผู้ป่วยและส่งสิ่งของยังชีพให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

2. ระยะการช่วยเหลือระหว่างที่ระดับน้ำในพื้นที่ยังท่วมสูง เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์อุทกภัยที่คาดว่าจะยังดำรงอยู่ในช่วง 4 — 6 สัปดาห์ วงเงินงบประมาณ 13,347 ล้านบาท โดยสรุปมาตรการที่สำคัญได้ดังนี้

3. แนวทางดำเนินการระยะการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดแล้ว มุ่งเน้นการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว วงเงินงบประมาณ 42,704 ล้านบาท โดยสรุปมาตรการที่สำคัญได้ดังนี้

(1) เร่งสำรวจความเสียหาย และจัดทำระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งบูรณาการจากข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลกลางในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ จังหวัด ท้องถิ่น เอกชน และประชาชน โดยแสดงชั้นข้อมูลที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

(2) จัดให้มีมาตรการยืดหยุ่นในการชำระค่าสาธารณูปโภค และเร่งฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วยการซ่อมแซมระบบให้บริการด้านสาธารณูปโภค

(3) ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี

(4) จัดให้มีมาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และมาตรการเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น

(5) จัดให้มีมาตรการสินเชื่อบุคคล เช่น พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน ปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ได้ไม่เกิน 1 ปี และให้กู้เพิ่มเป็นกรณีฉุกเฉินไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี โดยไม่ต้องมีบุคคล/หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น รวมทั้งมาตรการสินเชื่อเคหะ สินเชื่ออุตสาหกรรม และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

(6) ลดเงินสมทบประกันสังคม

(7) เร่งสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้นำเข้าในต่างประเทศ โดยการจัด Roadshow สร้างความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งการแสวงหาวัตถุดิบ/เครื่องจักรในการผลิต และแสวงหาช่องทางในการเจาะตลาดใหม่ โดยกำหนดตลาดเป้าหมายได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐ อาเซียน จีน อินเดีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง เป็นต้น และประสานงานกับต่างประเทศเพื่อจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต อุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหาย

(8) จัดอาสาสมัครช่วยเหลือซ่อมแซมและฟื้นฟูหลังน้ำลด จัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน และจัดทีมปฏิบัติการ ออกให้บริการทำความสะอาด ซ่อมแซมที่พักอาศัย สถานประกอบการ

(9) จัดหน่วยเคลื่อนที่และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการฟื้นฟูต้นไม้หลังอุทกภัยผ่านสื่อ และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้ประสบภัย ด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง เช่น การให้ความรู้ สนับสนุนปัจจัยการผลิต และเงินอุดหนุนเพื่อฟื้นฟูอาชีพให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

4. ระยะการปรับโครงสร้างถาวร ดำเนินการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตในอนาคต เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ วงเงินงบประมาณ 24,428 ล้านบาท โดยสรุปมาตรการที่สำคัญได้ดังนี้

(1) ทบทวนผังเมืองในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ความเหมาะสมที่ตั้งของพื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงโครงสร้างอาคารเพื่อรองรับระดับน้ำสูง และปรับปรุงการออกแบบโครงข่ายถนนและสะพานให้สอดคล้องกับทางน้ำและสามารถใช้เป็นคันกันน้ำได้โดยเฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

(2) จัดทำแผนป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น โครงข่ายถนน ระบบไฟฟ้า ระบบประปา เป็นต้น เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และการวางแผนป้องกันภาคการผลิตและบริการ ภายใต้สถานการณ์อุทกภัยเพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ

(3) กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้ารายสำคัญในตลาดที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยยังคงรักษามาตรฐานและความสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงและส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนดเวลา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ตุลาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ