มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 26, 2011 22:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการด้านการเงินที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงการคลัง สำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อให้สามารถเร่งดำเนินการได้อย่างชัดเจน

2. เห็นชอบมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในวงเงินรวม 325,000 ล้านบาท และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง จัดทำข้อมูลลงทะเบียนผู้ประสบความเสียหายเพื่อให้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องพิจารณาดูแลโดยโครงการสินเชื่อดังกล่าว

3. รับทราบแนวทางการให้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาดำเนินการ และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบ

สาระสำคัญ

มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประกอบด้วยมาตรการ 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

1. มาตรการด้านการเงินที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสามารถดำเนินการในปัจจุบันประกอบด้วย การช่วยเหลือค่าเสียหายด้านที่พักอาศัย (ไม่เกินหลังละ 30,000 บาท) และทรัพย์สินที่ประสบอุทกภัย (ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท) โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) (ครัวเรือนละ 5,000 บาท) โดยกระทรวงมหาดไทย การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายด้านพืช ประมงและปศุสัตว์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลัง

2. มาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในวงเงินรวม 325,000 ล้านบาท

2.1 สินเชื่อรายย่อยสำหรับผู้ประสบอุทกภัยจากธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงิน 80,000 ล้านบาท ได้แก่

(1) สินเชื่อสำหรับกลุ่มรายย่อย วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน

(2) สินเชื่อเพื่อการเคหะ วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ดำเนินการโดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน

(3) สินเชื่อสำหรับกลุ่มเกษตรกร วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ดำเนินการโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

2.2 สินเชื่อรายย่อยสำหรับผู้ประสบอุทกภัยจากโครงการประกันสังคมวงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้แก่

(1) โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย สำหรับสถานประกอบการ วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในกิจการหรือการซ่อมแซมสถานประกอบการ รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 (คงที่ 3 ปี)

(2) โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย วงเงิน 8,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกันตน เพื่อซ่อมแซมบ้านที่ถูกน้ำท่วมของตนเองหรือของบิดามารดา รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 (คงที่ 2 ปี)

2.3 การค้ำประกันสินเชื่อของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้การค้ำประกันสินเชื่อของผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี ซึ่งจะครอบคลุมวงเงินให้กู้ของธนาคารพาณิชย์จำนวน 120,000 ล้านบาท โดย บสย. รับผิดชอบส่วนสูญเสียในการจ่ายค่าประกันชดเชยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 และมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ให้เป็นเวลา 3 ปี รวมถึงขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับลูกค้าที่ได้รับการค้ำประกันในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งมาตรการนี้รัฐบาลสนับสนุนชดเชยค่าธรรมเนียมและค่าชดเชยความเสียหายสูงสุดไม่เกิน 23,000 ล้านบาท

2.4 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ โดย

(1) ธนาคารออมสิน ร่วมให้สินเชื่อร้อยละ 50 กับธนาคารพาณิชย์ที่ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ดำเนินการโดยให้ธนาคารออมสินฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการ และธนาคารออมสินรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 0.01 ต่อปี ทั้งนี้ได้กำหนดวงเงินของธนาคารออมสิน จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อรวมกับวงเงินของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 20,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 10,000 ล้านบาทโดยสำนักงานประกันสังคมนำเงินไปฝากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการเพื่อปล่อยกู้ให้แก่สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

2.5 สินเชื่อจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) กระทรวงการคลังจะประสานกับ JBIC เพื่อให้พิจารณานำเงินเข้าฝากธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย จำนวน 50,000 ล้านบาท โดยจะมีการหารือในเงื่อนไขทางการเงินของวงเงินดังกล่าวต่อไป

2.6 สินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย โดยรัฐบาลจะหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณชดเชยเพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้ประกอบการเพื่อการลงทุนในระบบป้องกันอุทกภัยของนิคมและโรงงานโดยมีวงเงิน 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ระบบและโครงพื้นฐานที่สร้างขึ้นจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐจะกำหนดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับระบบป้องกันอุทกภัยของประเทศโดยรวม และระบบป้องกันอุทกภัยให้กับนิคมอุตสาหกรรมซึ่งรัฐจะสร้างขึ้นด้วย

3. มาตรการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน

นอกเหนือจากมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ควรพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยมาตรการด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน ดังต่อไปนี้

3.1 ขยายสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณายืดเวลาหรือขยายสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนที่ประสบความเสียหายจากอุทกภัย

3.2 อำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่จะเข้ามาทำงานในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูโรงงานที่ประสบความเสียหาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ตุลาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ