รายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 2, 2011 17:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2553

สาระสำคัญของเรื่อง

รายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2553

1. ภาพรวมของระบบราชการ

1.1 หน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหารมี 4 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ส่วนราชการ มีหน่วยงานในส่วนกลางรวม 177 หน่วยงาน ส่วนภูมิภาค รวม 953 หน่วยงาน และส่วนท้องถิ่น รวม 8,316 หน่วยงาน

ประเภทที่ 2 รัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง

ประเภทที่ 3 องค์การมหาชน 57 องค์การ

ประเภทที่ 4 หน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่น (หน่วยธุรการขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ) 8 แห่ง

1.2 กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนทั้งข้าราชการและบุคลากรประเภทอื่น จำนวน 2,036,176 คน

1.3 งบประมาณแผ่นดิน ปี พ.ศ. 2553 จำนวน 1,700,000 ล้าน ได้ถูกจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ 474,589.0 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบงบบุคลากรในแต่ละปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2546 — พ.ศ. 2553 พบว่า งบบุคลากรมีแนวโน้มที่สูงขึ้นในอัตราต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นที่สูงขึ้นของงบประมาณแผ่นดิน และเมื่อเปรียบเทียบร้อยละของงบบุคลากร ต่องบประมาณแผ่นดินระหว่างปี พ.ศ. 2546 — พ.ศ. 2553 พบว่างบบุคลากรลดลง 2.7 ของจำนวนร้อยละ

1.4 สมรรถนะในการแข่งขันของระบบราชการไทยเชิงเปรียบเทียบในส่วนความเป็นประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนประกอบธุรกิจในปี 2553 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 12 จาก 183 ประเทศ และธนาคารโลกได้มีการปรับลดปัจจัยที่นำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมิน และปัจจัยที่ลดไปเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยมีขีดสมรรถนะสูง ทำให้อันดับของประเทศไทยเปลี่ยนไปอยู่ในอันดับที่ 16 ในส่วนดัชนีสภาวะธรรมาภิบาลโดยรวมของประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่ม Percentile Rank เดิม คือ Percentile Rank 50 — 57 ส่วนมิติประสิทธิผลของภาครัฐ และมิตินิติธรรม ลดลงเล็กน้อย อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยพบว่าอยู่ในอันดับที่ 26 อันดับประสิทธิภาพระบบราชการไทยพบว่าอยู่ในอันดับที่ 3 จาก 12 ประเทศ รองจาก สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยมีประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และจีน อยู่รองลงมาตามลำดับ ความพร้อมในการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พบว่าอยู่ในลำดับที่ 76 จากจำนวน 184 ประเทศ

2. ความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบราชการไทย

2.1 ผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการจากการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามลำดับรับรองฯ ประจำปี พ.ศ. 2553 ปรากฏว่า ส่วนราชการมีคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนด โดยส่วนราชการจำนวนหนึ่งมีคะแนนผลการปฏิบัติราชการเฉลี่ยสูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก ในส่วนของจังหวัดยังมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเป้าหมายเล็กน้อย

2.2 การผลักดันการพัฒนาระบบราชการไทย ให้เป็นองค์การที่มีความพร้อม 4 ด้าน คือ ตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง เก่ง ดี และมีส่วนร่วมตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2551 — 2555) ดังนี้

  • ตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชนโดยการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนด้วยการส่งเสริมการมอบอำนาจการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ การพัฒนาศูนย์บริการร่วม การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการให้บริการ รวมทั้งเผยแพร่บริการของภาครัฐให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
  • การปรับรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเชิงบูรณาการเกิดการแสวงความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการจัดบริการสารธารณะและการเปิดให้หน่วยงานและองค์กรในภาคส่วนอื่นสามารถเข้ามาให้บริการสาธารณของรัฐการสร้างความเข้มแข็งในการบริหารพื้นที่ โดยจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้ใช้วิธีการบริหารแบบบูรณาการ
  • การมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง บุคลากรมีความพร้อมและความสามารถในการเรียนรู้คิดริเริ่ม เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยการสร้างความพร้อมของผู้นำในภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราชการ การปรับองค์กรภาครัฐให้สนองรองรับการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล กำหนดแบบแผนการบริหารราชการในต่างประเทศและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อม ความสามารถเรียนรู้ ปรับตัวด้วยกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง หรือกรณีศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การประชุมชี้แจง ประชุมสัมมนาทางวิชาการ การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งยังได้แสวงหาและพัฒนารูปแบบการจัดการที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในระบบ Virtual office เพื่อช่วยให้ข้าราชการทำงานราชการได้ที่บ้านเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่บุคลากรภาครัฐ และได้จัดให้มีคู่มือการบริหารงานและกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารองค์การมหาชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์การมหาชนให้เข้าสู่การบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาลตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ในลักษณะกำกับที่ไม่เข้าไปควบคุมนอกจากนี้ยังขยายผลระบบบริหารยุทธศาสตร์องค์กรลงสู่ระดับข้าราชการบริหารส่วนภูมิภาค
  • การสร้างระบบการกำกับดูแลตนเองที่ดี เกิดความโปร่งใสมั่นใจ และสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งทำให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเอง ประชาชน และสังคมโดยรวม ทั้งยังได้ขยายผลการดำเนินงานตามนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี (Organizational Govemance) ซึ่งแต่ละส่วนราชการได้นำมาตรการตามนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีไปดำเนินการตามความเหมาะสม

2.3 การดำเนินงานขั้นต่อไปของ ก.พ.ร. จะสร้างระบบราชการให้มีความพร้อมทั้ง 4 ด้านคือ ตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง เก่ง ดี และมีส่วนร่วมตามแผนยุทธศาสตร์ฯ โดยจะเร่งรัดมาตรการทบทวนบทบาทภารกิจของส่วนราชการให้ระบบราชการมีขนาดที่เหมาะสม ยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ปรับการบริหารกลุ่มจังหวัดและจังหวัด พัฒนาระบบการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ พร้อมทั้งเตรียมระบบ e-leaming เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 7 รอบ (84 พรรษา) 5 ธันวาคม 2554 เพื่อนำเสนอแนวคิดเชิงระบบ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

3. ผลการดำเนินงานของสำนักงาน ก.พ.ร. ประจำปี พ.ศ. 2553 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินงานโดยมีแผนยุทธศาสตร์ อัตรากำลังและงบประมาณรายจ่ายของตนในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการที่รับผิดชอบกิจกรรม วิชาการและแผนงานภายใต้นโยบายของ ก.พ.ร. ซึ่งดำเนินงานด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างองค์การ เสริมสร้างสมรรถนะระบบราชการให้มีมาตรฐานสากลและเป็นแบบอย่างที่ดีของประเทศในภูมิภาค

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ