คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (เพิ่มเติม) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าว โดยให้ประสานงานกับภาคเอกชนและหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นที่ปรึกษาและให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าว และให้ทุกกระทรวงจัดส่งแผนการดำเนินการและรายละเอียดมาตรการฟื้นฟูของแต่ละกระทรวงที่ได้ดำเนินการหรืออยู่ระหว่างดำเนินการ (มาตรการดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว) และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวบรวมก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อจัดทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ
1.1 ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันปรับปรุงรูปแบบให้เป็นศูนย์พัฒนาฝีมือและคุณภาพชีวิตชั่วคราว โดยจัดบริการเบ็ดเสร็จให้ความช่วยเหลือ ด้านอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค การดูแลสุขภาพให้บริการทางการแพทย์ และการเยียวยาจิตใจ และจัดให้มีกิจกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มวัย รวมทั้งเร่งการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นที่เป็นประโยชน์และตรงตามความต้องการของประชาชนเพื่อนำไปประกอบอาชะและสร้างรายได้ต่อไป โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประสานกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการรับฝึกอบรมเฉพาะประชาชนที่พักอยู่ในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย โดยไม่นับรวมผู้ที่เดินทางไป — กลับ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ฝึกอบรมอาชีพผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยง 120 บาท / วัน และหากประสงค์จะทำงานต่อจะจัดหางานให้ทำต่อในศูนย์พักพิง เช่น ทำอาหาร ดูแลเด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นต้น โดยได้รับค่าจ้างตามอัตราขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งหางานอาชีพให้ทำนอกศูนย์พักพิงที่มีตำแหน่งงานว่างอยู่กว่า 30,000 ตำแหน่ง
1.2 การดูแลผู้ป่วย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ดูแลผู้ประสบอุทกภัยที่เป็นผู้ป่วย และส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยไปยังโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบ แต่เริ่มมีการขาดแคลนเวชภัณฑ์บางชนิด เช่น น้ำยาล้างไต เป็นต้น เนื่องจากโรงงานผลิตในประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งเตรียมการนำเข้าและสำรองเวชภัณฑ์ที่จำเป็นที่อาจมีไม่เพียงพอ
1.3 การดูแลทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลบางส่วน ได้อพยพออกจากบ้านในช่วงอุทกภัย ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดกำลังดูแลทรัพย์สินของประชาชนที่ไม่ได้อยู่บ้านอย่างเข้มงวดเพื่อให้มีความปลอดภัยจากการโจรกรรม
1.4 การจัดตั้งคลังอาหารสดและอาหารปรุงสำเร็จ เนื่องจากประชาชนในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ประสบอุทกภัยยังมีศักยภาพและมีความประสงค์ที่จะส่งอาหารเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดอื่นให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาจัดตั้งคลังอาหารสดและอาหารปรุงสำเร็จ สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ประสานให้จังหวัดที่มีศักยภาพและพร้อมดำเนินการรวบรวมส่งเข้าคลัง และจัดให้มีจังหวัด คู่แฝดที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันที่มีศักยภาพและความพร้อมเพื่อช่วยเหลือจังหวัดที่ประสบภาวะอุทกภัย
1.5 ผู้ประสบภัยบ้านเรือนพังหรือเสียหาย ในพื้นที่ซึ่งน้ำลดแล้วให้กระทรวงมหาดไทยเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อจัดงบประมาณช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือไม่เกินครอบครัวละ 30,000 บาท และประสานการช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เช่น การรวมพลังช่วยเหลือกันในชุมชน และการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคเอกชนเพื่อซ่อมสร้างบ้าน เป็นต้น
2. การช่วยเหลือเกษตรกร
2.1 การฟื้นฟูอาชีพ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม เพื่อเตรียมโครงการและงบประมาณช่วยเหลือความเสียหาย เช่น ความเสียหายด้านพืช ปศุสัตว์และประมง การช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์สัตว์น้ำ และพันธุ์สัตว์ปีก การฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ การแก้ไขปัญหาน้ำเสียและฟื้นฟูคุณภาพดิน การช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น
2.2 สินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
(1) กรณีลูกค้าประสบภัยและเสียชีวิต ธ.ก.ส. ปลดหนี้ให้กับทายาทหรือคู่สมรส และรับเป็นลูกค้าเพื่อให้สินเชื่อฟื้นฟูการผลิตแทน
(2) กรณีประสบภัยร้ายแรงและไม่เสียชีวิต จะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ 3 ปีแทนเกษตรกร
(3) สินเชื่อ ธ.ก.ส. ดำเนินการ 2 โครงการได้แก่ (1) สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพเกษตรกรรม วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติร้อยละ 3 ต่อปี และ (2) สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน ร้อยละ 7 ต่อปี) ระยะ 3-5 ปี หรือยาวกว่านั้น ซึ่ง ธ.ก.ส. ให้รวมถึงเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. สามารถมาขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าได้ด้วย สำหรับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและเกษตรกรที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลังประสานให้ได้รับความช่วยเหลือในลักษณะเดียวกับลูกค้า ธ.ก.ส. ด้วย
3. การกอบกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย ขณะนี้รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประสานนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้ง 7 แห่ง เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการในการลดระดับน้ำในนิคมอุตสาหกรรม (Dewatering Action Plan) และฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมเมื่อน้ำเริ่มลดเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้ภายใน 45 วันนับจากวันที่เริ่มปฏิบัติการสูบน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรม โดยอยู่ระหว่างการจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการระดับนโยบาย 1 คณะ และคณะอนุกรรมการระดับปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จสำหรับนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง
ทั้งนี้ มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่ดำเนินการได้ทันที และเร่งเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยด้านเศรษฐกิจคณะกรรมการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน และคณะกรรมการด้านสังคมและคุณภาพชีวิต คนด้อยโอกาส การสร้างงาน และสุขภาพจิตใจ พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีในกรณีที่ต้องได้รับการอนุมัติก่อนดำเนินการ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554--จบ--