มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 2, 2011 17:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อชดเชยการดำเนินมาตรการข้างต้น รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 25,532 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังขอตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณก่อนดำเนินการต่อไป ดังนี้

1. สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. (Portfolio Guarantee Scheme) วงเงินชดเชยไม่เกิน 23,000 ล้านบาท

2. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน โดยชดเชยให้ธนาคารออมสิน โดยวงเงินชดเชยเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 2,532 ล้านบาท

สำหรับมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีสาระสำคัญดังนี้

1. สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการผ่านกลไกการค้ำประกันในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ของ บสย.

1.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อช่วยเหลือด้ายการเงินให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมจากอุทกภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้สามารถฟื้นฟูกิจการได้โดยเร็ว

1.2 กลุ่มเป้าหมาย : SMEs ที่ประกอบธุรกิจทุกประเภทที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือเป็น SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมโดยจะต้องมียอดการสั่งซื้อหรือยอดขายกับ SMEs ในพื้นที่ประสบอุทกภัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 โดยธนาคารจะต้องเป็นผู้รับรองและยืนยัน

1.3 วงเงินสินเชื่อค้ำประกันรวม : 100,000 ล้านบาท

1.4 เงื่อนไขการค้ำประกัน :

(1) ระยะเวลาการค้ำประกัน 7 ปี

(2) ค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อโดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมให้ใน 3 ปีแรก

(3) สินเชื่อที่ได้รับจากสถาบันการเงินต้องเป็นสินเชื่อใหม่ และต้องไม่นำไปชำระหนี้กับสถาบันผู้ให้กู้ โดยกำหนดวงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบัน แต่หากสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว บสย. จะค้ำประกันในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันโดยธนาคารพาณิชย์จะคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี และหลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยตามอัตราปกติของแต่ละธนาคาร

(4) เป็น SMEs ตามกลุ่มเป้าหมายตามที่กำหนด และต้องไม่เป็นหนี้ NPL ก่อน วันที่ 1 สิงหาคม 2554

1.5 ความรับผิดชอบส่วนสูญเสียในการจ่ายค่าประกันชดเชย NPGs ของ บสย. (coverage ratio) : บสย. รับผิดชอบส่วนสูญเสียในการจ่ายค่าประกันชดเชย NPGs สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ตลอดระยะเวลาโครงการ 7 ปี

1.6 ระยะเวลารับคำขอ : ภายใน 1 ปีนับจากวันที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

1.7 งบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุน : บสย. ขอรับชดเชยจากรัฐบาลเป็นจำนวนไม่เกิน 23,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) ชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 เป็นระยะเวลา 3 ปี หรือเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5,250 ล้านบาท (คำนวณจาก 1.75% ? 3 ? 100,0000)

(2) ชดเชยส่วนต่างค่าประกันชดเชยตามที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกิน 17,750 ล้านบาท (โดยคำนวณจากความรับผิดชอบส่วนสูญเสียในการจ่ายค่าประกันชดเชยสูงสุดที่ร้อยละ 30 หักด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมค้ำประกันตลอดระยะเวลาโครงการ 3 ปี รวมร้อยละ 12.25 เท่ากับต้องชดเชยส่วนต่างที่ร้อยละ17.75 (30% - 12.25% = 17.75) ? 100,000 = 17,750)

ทั้งนี้ บสย. ขอให้สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวได้ทันทีเมื่อมีการขอเบิกจ่าย

2. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน

2.1 วัตถุประสงค์ : เช่นเดียวกับสินเชื่อกรณีแรก (ข้อ 4.1.1)

2.2 กลุ่มเป้าหมาย : เช่นเดียวกับสินเชื่อกรณีแรก (ข้อ 4.1.2)

2.3 วงเงิน Soft Loan จากธนาคารออมสิน : ธนาคารออมสินร่วมให้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ ในสัดส่วน ธนาคารออมสิน : ธนาคารพาณิชย์ เท่ากับ 50 : 50 โดยธนาคารออมสินจะฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เป็นจำนวน 20,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สมทบให้สินเชื่อกับผู้ประสบอุทกภัยตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 ปี

2.4 ระยะเวลารับคำขอ : ภายใน 1 ปีนับจากวันที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

2.5 งบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุน : รัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินให้ธนาคารออมสินในหลักการเดียวกับการให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการ Soft Loan แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ซึ่งชดเชยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนสำหรับผู้ฝากทั่วไปสูงสุดของธนาคารออมสิน (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี) บวกต้นทุนการดำเนินงาน (ร้อยละ 0.98 ต่อปี) หักด้วยผลตอบแทนจากการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ (ร้อยละ 0.01 ต่อปี) คิดเป็นร้อยละ 4.22 ต่อปี หรือคิดเป็นเงินชดเชยตลอด 3 ปี ประมาณ 2,532 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ