สรุปสถานการณ์อุทกภัย สาธารณภัย และการช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 2, 2011 20:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปสถานการณ์อุทกภัย สาธารณภัย และการช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2554) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้

สรุปสถานการณ์อุทกภัย สาธารณภัย และการช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2554)

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2554)

สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 26 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาครฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และกรุงเทพมหานคร 147 อำเภอ 1,132 ตำบล 8,319 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 718,607 ครัวเรือน 2,110,152 คน โดยพื้นที่ประสบอุทกภัยและมีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 รวมทั้งสิ้น 63 จังหวัดมีผู้เสียชีวิต 384 ราย สูญหาย 2 คน ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างฟื้นฟู จำนวน 37 จังหวัด

2. สภาพอากาศ (ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2554)

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ และจะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนที่ผ่านตอนบนของภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีฝนเป็นแห่งๆ และอุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 1 - 5 พฤศจิกายน 2554 จะมีบริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นต่อเนื่อง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

3. การดำเนินการของ ศอส.

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2554 ศอส. ได้มีการประชุมต่อเนื่องทุกวัน ในเวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง และอาคาร Energy Complex (ENCO) กระทรวงพลังงาน โดยมี นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย/ผอ. ศอส. และ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย/รอง ผอ.ศอส. เป็นประธานการประชุม ศอส. ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้สรุปสาระสาคัญของการประชุม เพื่อให้หน่วยที่เกี่ยวข้องใช้ประกอบการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยต่อไป

4. การสนับสนุนภารกิจ ศปภ.

4.1 วันที่ 25 ตุลาคม 2554

1) นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้กระทรวงมหาดไทย นำสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด ของกระทรวงพาณิชย์ ไปจำหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่น้ำท่วม และสนับสนุนภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าควบคุมการปฏิบัติ ทั้งนี้ได้นำสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดไปจำหน่าย ณ จังหวัดนนทบุรี ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ดังนี้

(1) อำเภอเมืองนนทบุรี บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี จำหน่ายได้ดีมาก

(2) อำเภอปากเกร็ด บริเวณใต้สะพานพระราม 4 จำหน่ายได้ดีมาก

(3) อำเภอบางบัวทอง ตั้งจำหน่ายได้เพียงระยะสั้น เนื่องจากน้ำมีระดับน้ำสูง ทั้งนี้ได้วางแผนนำรถขนาดใหญ่ไปตั้งจำหน่าย ในวันที่ 26 ตุลาคม 2554

(4) อำเภอบางใหญ่ ตั้งจำหน่าย ในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 บริเวณหน้าหมู่บ้านพระปิ่นเกล้า 3

(5) อำเภอบางกรวย ตั้งจำหน่ายในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 บริเวณทางเข้าวัดศรีประวัติ

2) จัดทำ Display ภาพถ่ายดาวเทียมวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วม ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2554 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ ศอส. และ ศปภ. ทราบ

3) แจ้งการไฟฟ้านครหลวง เพื่อขอยกเว้นค่ากระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย และการดำเนินการในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้า

4.2 วันที่ 26 ตุลาคม 2554

1) การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมศิริราช

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มอบหมายผู้แทนเข้าร่วมประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันพุธที่ 26 ตุลาคม 2554 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ฯ อาคารอำนวยการ ชั้น 2 เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาล ศิริราช ประกอบด้วย (1) การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมศิริราช (2) แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (3) การดำเนินการวางกระสอบทราย ก่ออิฐ ล้อมป้องกันพื้นที่เสี่ยง (4) การทำกำแพงล้อมป้องกันสูง 4 เมตร อาคารเฉลิมพระเกียรติซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (5) การสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก

ทั้งนี้ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ให้คำแนะนำถึงแนวทางปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน และให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำดีเซล ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 6 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากบ่อสูบป้องกันน้ำท่วมโครงการพระราชดำริ เพื่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้ว

2) รายงานแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย (1) สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (2) นิคมอุตสาหกรรม สหรัตนนคร (3) นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) (4) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และ (5) บริษัทแฟคตอรีแลนด์ วังน้อย โดยจังหวัดได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานของแต่ละนิคมแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่ทั้ง 5 แห่ง

3) เข้าร่วมประชุม เรื่องการมอบหมายความรับผิดชอบป้องกัน ดูแล พื้นที่สำคัญ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 22/2554 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2554 ณ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

4.3 วันที่ 27 ตุลาคม 2554

1) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) กับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อให้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2554 เวลา 17.00 น. ณ ห้องบัญชาการ ศปภ. พร้อมนี้ได้ประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) กับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ไม่ประสบอุทกภัยหรือสถานการณ์คลี่คลายแล้ว (จังหวัดสนับสนุน) 44 จังหวัด ในคราวเดียวกัน เพื่อมอบหมายให้จังหวัดดังกล่าวให้ความช่วยเหลือสนับสนุนจังหวัด และเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ประสบอุทกภัย (พื้นที่เป้าหมาย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบในการปรุงอาหาร และวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

2) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดทำ “คู่มือการบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว” ตามบัญชานายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางให้จังหวัด/กรุงเทพมหานคร อำเภอ/เขต ตำบล/แขวง ใช้เป็นต้นแบบในการเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ได้แจ้งให้จังหวัดและกรุงเทพหมานครทราบและดำเนินการ รวมทั้งได้นำข้อมูลฯ ดังกล่าวลงในเว็บไซต์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย www.disaster.go.th หัวข้อ Download/คู่มือการบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว แล้ว

4.4 วันที่ 28 ตุลาคม 2554

1) จัดทำคำสั่ง กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่ 1/2554 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2554 เรื่อง การบริหารจัดการระบบการระบายน้ำด้วยเหตุอุทกภัย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีคำสั่งให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และสมุทรปราการ สนธิกำลัง พลเรือน ตำรวจ และทหาร จำนวน 40 นาย ปกป้องคุ้มครองการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในการดำเนินการเดินเครื่องสูบน้ำ บริเวณคลองหกวาสายล่าง อำเภอลำลูกกา จุดเชื่อมต่อกับคลองสิบสาม และคลองประเวศบุรีรมย์ อำเภอบางบ่อ ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าปัญหาจะยุติ

2) แจ้งจังหวัดที่ไม่ประสบอุทกภัย และจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว จำนวน 44 จังหวัด ให้สำรวจความพร้อมในการสนับสนุนจังหวัด และเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ประสบอุทกภัยเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการปฏิบัติ โดยรายงานให้ ศปภ. ทราบ ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2554

4.5 วันที่ 30 ตุลาคม 2554

มอบหมายให้รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายประทีป กีรติเรขา) ควบคุมการปฏิบัติการร่วม ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อจัดหาทรายและบรรจุกระสอบทรายสนับสนุนภารกิจ ศปภ. ดังนี้

1) จัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) จำนวน 30 นาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน (อส.) จำนวน 30 คน เข้าเวรรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอด 24 ชั่วโมง

2) สนับสนุนรถบรรทุกเทท้าย 16 คัน รถไฟฟ้าส่องสว่าง 2 คัน และรถขุดตัก 3 คัน

3) บรรจุทรายลงถุงทรายได้ จำนวน 200,000 ถุง รวมกับถุงทรายคงเหลือเป็นยอดรวมทั้งสิ้น 280,700 ถุง และจัดส่งทรายและถุงทรายบรรจุแล้วรวมทั้งสิ้น 251,480 ถุง

4.6 วันที่ 31 ตุลาคม 2554

4.6.1 กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 2/2554 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เรื่อง การบริหารจัดการระบบการระบายน้ำด้วยเหตุอุทกภัย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ สั่งการให้จังหวัดฉะเชิงเทรา ถือปฏิบัติดังนี้

1) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด สนธิกำลัง พลเรือน ตำรวจ ทหาร จำนวนตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ดำเนินการปกป้องคุ้มครองการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในการปิดประตูระบายน้ำคลองหลวงแพ่ง เพื่อเร่งการระบายน้ำผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต จนกว่าปัญหาอุทกภัยจะยุติ

2) กรณีเกิดการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่จากประชาชน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำท้องถิ่น ทำการเจรจาทำความเข้าใจก่อน หากยังฝ่าฝืนจึงให้ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งนี้ ให้รวมถึงปัญหาการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ชลประทานจุดอื่นๆ ในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องดำเนินการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่ชลประทาน

แนวทางปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้จังหวัดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ

4.6.2 สรุปการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

1) การจัดหาทรายและบรรจุกระสอบทราย ซึ่งได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายประทีป กีรติเรขา) ควบคุมการปฏิบัติการร่วม ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยบรรจุทรายลงถุงทรายได้ จำนวน 250,000 ถุง

2) การรับของบริจาคจากต่างประเทศ เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ส่งมอบของบริจาคให้แก่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมีรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ) เป็นผู้รับมอบของบริจาคที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสิ่งของบริจาคมี ดังนี้ (1) เครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง (2) เครื่องกรองน้ำ จำนวน 200 เครื่อง (3) เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 10 เครื่อง โดยมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 เครื่อง และการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 5 เครื่อง (4) เรือไฟเบอร์กลาสพร้อมเครื่อง จำนวน 3 ลำ

5. การดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท (เพิ่มเติม) ครั้งที่ 3

คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 อนุมัติในหลักการในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท (เพิ่มเติม) ครั้งที่ 3 ใน 36 จังหวัด กรอบครัวเรือน จำนวน 334,039 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,670,195,000 บาท โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องตามแนวทาง หลักเกณฑ์ และขั้นตอนที่กำหนด และส่งข้อมูลรายละเอียดจำนวนครัวเรือนที่ขอรับการช่วยเหลือมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมรายชื่อส่งธนาคารออมสินแล้ว 313,294 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,566,470,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 93.79 ทั้งนี้ธนาคารออมสินได้จ่ายเงินไปแล้ว 219,037 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 69.91 (ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2554)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ