การจัดทำข้อตกลงกับ Nuclear Regulatory Commission แห่งสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 2, 2011 22:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบต่อข้อตกลงระหว่างคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แห่งประเทศไทย เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและความร่วมมือในด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญ หรือไม่มีผลกระทบต่อเนื้อหาสาระของข้อตกลงฉบับนี้ ให้ วท. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

2. อนุมัติให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงฯ ดังกล่าวได้

3. มอบหมายให้ กต. ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงฯ ดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

วท. รายงานว่า

1. วท. มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อเตรียมการรองรับการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในประเทศไทย จึงได้ประสานขอคำแนะนำไปยังคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์ แห่งสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนากฎหมายดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมาธิการฯ จึงได้เสนอร่างข้อตกลงระหว่างคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แห่งประเทศไทย เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและความร่วมมือในด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ฉบับนี้ขึ้น

2. ข้อตกลงฯ ฉบับนี้ จะมีการลงนามระหว่างกัน โดยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะเป็นผู้ลงนามก่อน และให้ผู้แทนของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติซึ่งมีกำหนดจะเดินทางไปร่วมประชุมและศึกษาดูงาน ณ เมืองร็อควิล รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2554 นำไปให้ประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์ แห่งสหรัฐอเมริกา ลงนาม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเสนอร่างข้อตกลงฯ ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการจัดเตรียมเอกสารการลงนามได้ทันตามกำหนดการ

3. ข้อตกลงฯ นี้จัดทำขึ้นเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและความร่วมมือในด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ การกำกับดูแลและข้อกำหนดมาตรฐานต่างๆ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รวมทั้งความร่วมมือในการวิจัยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และการฝึกอบรมที่คณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์จะถ่ายทอดให้กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติด้วย

4. ในขั้นตอนการปฏิบัติในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเป็นไปตามแนวทางการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลในฐานะประเทศสมาชิกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยถือปฏิบัติ โดยไม่เป็นการกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศแต่อย่างใด นอกจากนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2508 สามารถรองรับพันธกรณีภายใต้ความตกลงฉบับนี้ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการออกกฎหมายฉบับใหม่หรือแก้ไขฉบับเก่าเพื่อให้เป็นไปตามความตกลง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ