คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดนิยามคำว่า “อุตสาหกรรมไอซีที” หมายความว่า กิจการที่เกี่ยวกับการผลิต การประกอบ และการค้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ และบริการด้านไอซีทีทุกชนิดและทุกประเภท (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4)
3. กำหนดให้มีสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยและกำหนดวัตถุประสงค์ ที่มาของรายได้ และองค์ประกอบของสมาชิก และกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ (ร่างมาตรา 5 — ร่างมาตรา 15)
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย และองค์ประกอบของคณะกรรมการ และกำหนดอำนาจหน้าที่กำหนดคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ (ร่างมาตรา 16 — ร่างมาตรา 34)
5. กำหนดให้มีสำนักงานสภามีผู้อำนวยการเป็นหัวหน้าสำนักงานโดยตำแหน่ง และกำหนดให้หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหาผู้อำนวยการ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ (ร่างมาตรา 35 — ร่างมาตรา 37)
6. กำหนดการดำเนินกิจการของสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศ (ร่างมาตรา 38 — ร่างมาตรา 41)
7. กำหนดให้มีการกำกับดูแลการดำเนินงานของสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ร่างมาตรา 42 — ร่างมาตรา 46)
8. กำหนดให้มีบทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 47 — ร่างมาตรา 52)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2554--จบ--