การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 9, 2011 17:09 —มติคณะรัฐมนตรี

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ประสานและขอความร่วมมือผู้ประกอบการ รวมทั้งพิจารณาดำเนินการโดยใช้กลไกที่มีอยู่ เพื่อให้มีการพิจารณาปรับลดราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้ปรับลดลง เพื่อช่วยบรรเทาภาระของประชาชนผู้บริโภค ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

กระทรวงพาณิชย์ ขอเรียนข้อเท็จจริง ดังนี้

1. หลักการดูแลราคาสินค้า

การดูแลราคาสินค้าเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 รวมทั้งได้ยึดกรอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 84 (1) ที่กำหนดให้รัฐสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด พร้อมได้กำหนดกรอบนโยบายในการดูแลราคาสินค้า คือ (1) ราคาสินค้าต้องเป็นธรรม ปรับเปลี่ยนขึ้น-ลงสอดคล้องกับต้นทุนทั้งต้นทางและปลายทาง (2) มีปริมาณสินค้าเพียงพอกับความต้องการ (3) ปริมาณครบถ้วนถูกต้องและตรงตามที่ระบุไว้ที่หีบห่อ (4) ไม่มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคขึ้นราคาสินค้า หรือกักตุนสินค้า

2. กรอบการดูแลราคาสินค้า

2.1 กรอบรายการสินค้าที่ดูแล

(1) รายการสินค้าและบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุม ในปี 2554 จำนวน 41 รายการ แยกเป็น สินค้าควบคุม จำนวน 39 รายการ และบริการควบคุม จำนวน 2 รายการ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับกับสินค้าและบริการควบคุม จำนวน 41 รายการ

(2) รายการสินค้าที่ติดตามดูแล จำนวน 205 รายการ โดยมีการติดตาม ตรวจสอบราคาและสถานการณ์ของสินค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค และมิให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาเอาเปรียบผู้บริโภค

2.2 กรอบมาตรการการดูแลราคาสินค้า

(1) มาตรการทางกฎหมาย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ในการกำหนดมาตรการที่จะใช้บังคับกับสินค้าและบริการควบคุม ซึ่งจะมีการพิจารณาทบทวนทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีทั้งมาตรการด้านราคาและปริมาณสินค้าได้แก่ 1) การกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุดตามมาตรา 25 (1) 2) ห้ามมิให้มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงเกินสมควรตามมาตรา 29 3) การให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 25 (5) และ 4) ห้ามมิให้มีการกักตุนสินค้าควบคุม โดยไม่นำสินค้าออกจำหน่ายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ตามมาตรา 30

นอกจากนี้ ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ในการกำกับดูแลเครื่องมือชั่งตวงวัดที่ใช้ในทางพาณิชยกิจ เช่น เครื่องชั่งรถยนต์ ใช้สำหรับการชั่งสินค้าเกษตร มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องวัดความชื้นข้าว รวมทั้งการดูแลปริมาณการบรรจุและวิธีการแสดงปริมาณ การบรรจุสินค้าที่หีบห่อ

(2) มาตรการบริหาร กระทรวงพาณิชย์ใช้วิธีขอความร่วมมือผู้ประกอบการเป็นหลักในการดูแลราคาสินค้า สำหรับสินค้าที่อยู่ในข่ายติดตามดูแล 205 รายการ โดยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ผลิต/ผู้นำเข้า แจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่าย โดยเฉพาะการขึ้นราคาสินค้าให้ทราบล่วงหน้าก่อนดำเนินการ และการปรับเปลี่ยนราคาจะพิจารณาตามภาระต้นทุนในส่วนของวัตถุดิบที่สูงขึ้นเท่านั้น และกรณีราคาวัตถุดิบลดลงก็ให้ปรับลดราคาลงด้วย

3. การปรับลดราคาสินค้าเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

3.1 สินค้าอุปโภคบริโภค

ตามที่รัฐบาลยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งผลให้ราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลลดลงลิตรละ 3.00 บาท ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2554 ซึ่งจากการศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่าในโครงสร้างต้นทุนการผลิตสินค้ามีสัดส่วนของน้ำมันดีเซลเพียงเล็กน้อย ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงเพียงประมาณร้อยละ 0.0031 - 0.6986 แต่จะมีผลต่อการขนส่งสินค้า

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือผู้ประกอบการร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิ สาระผล) เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือปรับลดราคาสินค้าลง (แม้ว่าต้นทุนจะลดลงเล็กน้อย) จำนวน 5 รายการ ร้อยละ 0.55 - 13.88 ดังนี้

1. ปูนซีเมนต์ ปรับลดราคาถุงละ 5 - 10 บาท (ร้อยละ 4 — 7.14) ราคาปัจจุบัน 135 - 140 บาท/ถุง (50 กก.)

2. กระเบื้องมุงหลังคา ปรับลดราคาแผ่นละ 5 บาท (ร้อยละ 13.88) ราคาปัจจุบัน 36 - 40 บาท/แผ่น

3. ปุ๋ยเคมี ปรับลดราคาถุงละ 5 - 8 บาท (ร้อยละ 0.55 - 0.79) ราคาปัจจุบัน 905 - 1,010 บาท/ถุง (50 กก.)

4. เครื่องปั๊มน้ำ ปรับลดราคาเครื่องละ 100 - 200 บาท (ร้อยละ 2.17 - 4.35) ราคาปัจจุบัน 4,590 บาท/เครื่อง

5. แป้งสาลี ปรับลดราคาถุงละ 10 บาท (ร้อยละ 1.43 - 2.09) ราคาปัจจุบัน 477 - 698 บาท/ถุง (22.5 กก.)

สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ตลาดมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดของใช้ประจำวัน ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่ นมผง นมสด นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม นมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม นมข้นหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป ครีมเทียม น้ำผลไม้สำเร็จรูปพร้อมดื่มบรรจุภาชนะผนึก โฟมล้างหน้า แชมพู ครีมนวดผม ยาสีฟัน เป็นต้น ผู้ประกอบการจะตรึงราคาไว้จนถึงสิ้นปี 2554

3.2 สินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์มีราคาลดลง ดังนี้

(1) เนื้อไก่ ปริมาณผลผลิตในช่วงต้นปี 2554 ลดลงประมาณร้อยละ 20 จากสาเหตุปัญหาของการผลิต (ด้านสุขภาพพ่อแม่พันธุ์และสภาพอากาศที่แปรปรวน) จึงได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาราคาเนื้อไก่ที่มีการปรับตัวสูงขึ้น และจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพบว่ามีปริมาณเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น จึงได้ออกประกาศฯ กำหนดราคาขายปลีกแนะนำเนื้อไก่ลดลง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2554 โดยในกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกเป็น ดังนี้ 1) ไก่สดทั้งตัว (รวมเครื่องใน) ไม่เกินราคากิโลกรัมละ 60 - 65 บาท ลดลง 5 - 10 บาท 2) ไก่สดทั้งตัว (ไม่รวมเครื่องใน) ไม่เกินราคากิโลกรัมละ 65 - 70 บาท ลดลง 5 - 10 บาท 3) เนื้อไก่ ไม่เกินราคากิโลกรัมละ 70 — 80 บาท ลดลง 12 - 15 บาท

(2) เนื้อหมู ในช่วงต้นปี 2554 ปริมาณผลผลิตลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น และเกิดปัญหาการขาดแคลน ได้ใช้มาตรการควบคุมการส่งออกสุกรมีชีวิต การขนย้าย การแจ้งปริมาณสถานที่เก็บสุกร และกำหนดราคาจำหน่าย ทำให้สุกรมีปริมาณเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นและราคาสุกรมีชีวิตได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงได้ออกประกาศฯ กำหนดราคาจำหน่ายปลีกแนะนำเนื้อหมูลดลง ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ดังนี้

  • ราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดง กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ตะวันออกและตะวันตก ไม่เกินราคากิโลกรัมละ 130 บาท ลดลงกิโลกรัมละ 22 บาท (จากเดิม 152 บาท)

3.3 มาตรการเสริม ดำเนินการภายใต้ โครงการธงฟ้า..ราคาประหยัด

เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการในหลายรูปแบบ กล่าวคือ

1) ร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่จัดจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ภายใต้ชื่อ “งานธงฟ้า...ราคาประหยัด” จำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไปร้อยละ 20 - 40 ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและจำเป็น เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน เพิ่มกำลังซื้อและเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม

2) มีร้านอาหารมิตรธงฟ้าทั่วประเทศ จำนวน 4,114 ร้าน (กรุงเทพฯ 420 ร้าน ต่างจังหวัด 3,694 ร้าน) จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ จาน/ชามละ 25 - 30 บาท

3) ขอความร่วมมือศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานเอกชน ศูนย์ราชการ ร้านอาหารทั่วไป จัดเมนูอาหารปรุงสำเร็จอย่างน้อย 1 รายการ จำหน่ายราคาจาน/ชามละ 25 - 30 บาท

4) มีรถเข็นธงฟ้า จำนวน 130 คัน จำหน่ายข้าวราดแกง กับข้าว 1 อย่าง จานละ 19 บาท กับข้าว 2 อย่าง จานละ 25 บาท

5) ร่วมกับร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ จัดโครงการ “ธงฟ้า อิ่มสะดวก 29 บาท” จัดกิจกรรมตรึงราคาอาหารปรุงสำเร็จอย่างน้อย 12 รายการ ที่จำหน่ายในร้าน ในราคา 29 บาท ไปจนถึงสิ้นปี 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ