คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยให้สำนักงาน ก.พ. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนแจ้งให้ส่วนราชการถือปฏิบัติต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า
1. สำนักงาน ก.พ. ได้มีหนังสือสำนักงาน ก.พ. ด่วนที่สุด ที่ นร 1008.1/ว 28 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2552 เรื่อง การเลื่อนเงินเดือนข้าราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แจ้งส่วนราชการและจังหวัด เพื่อทราบและถือปฏิบัติแล้ว และหลังจากที่ส่วนราชการและจังหวัดได้เลื่อนเงินเดือนข้าราชการในสังกัดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาแล้ว 3 ครั้ง (1 เมษายน 2553, 1 ตุลาคม 2553 และ 1 เมษายน 2554) พบว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ อาทิ ปัญหาการเลื่อนเงินเดือนกรณีข้าราชการได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่น (ในกรมเดียวกัน) และกรณีข้าราชการได้รับมอบหมายให้ไปช่วยราชการ (ต่างกรม) ปัญหาการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการกรณีการโอนหรือย้าย ภายหลังวันที่ 1 มีนาคม หรือ 1 กันยายน ซึ่งได้มีการคำนวณวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนไว้แล้วในวันดังกล่าว และปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนและการบริหารวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือน
2. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือน โดยยังคงหลักการให้ส่วนราชการมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการบริหารวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนและการเลื่อนเงินเดือนตามผลงาน สำนักงาน ก.พ. จึงได้นำเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือน เสนอ ก.พ. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 6/2554 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ซึ่ง ก.พ. ได้มีมติเห็นชอบแล้ว และให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในประเด็นดังต่อไปนี้
2.1 กรณีการมอบหมายให้ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่น (ในกรมเดียวกัน) หรือการมอบหมายให้ไปช่วยราชการ (ต่างกรม) ให้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานที่ข้าราชการไปปฏิบัติราชการเป็นระยะเวลาเกินกว่ากึ่งหนึ่งของรอบการประเมิน เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการดังกล่าว และให้พิจารณานำอัตราเงินเดือนของข้าราชการผู้นั้นไปคำนวณรวมเป็นวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนและบริหารวงเงินในหน่วยงานที่ไปปฏิบัติราชการ
2.2 กรณีการโอน หรือย้ายข้าราชการ ภายหลังวันที่ 1 มีนาคม หรือ 1 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ส่วนราชการและจังหวัดคำนวณวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสังกัด ครั้งที่ 1 (1 เมษายน) และครั้งที่ 2 (1 ตุลาคม) ตามลำดับ ให้ผู้บังคับบัญชาในส่วนราชการ จังหวัด หรือหน่วยงานต้นสังกัดเดิมของข้าราชการก่อนการโอนหรือย้าย เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติราชการ และบริหารวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการ แล้วให้ผู้บังคับบัญชาในต้นสังกัดใหม่ออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือนตามผลการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาในต้นสังกัดเดิมดังกล่าว
2.3 กรณีวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนและการบริหารวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือน
2.3.1 ให้กำหนดผู้บริหารวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนเพิ่มเติม ดังนี้
1) หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี บริหารวงเงินสำหรับตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี และตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (ตำแหน่งประเภทบริหาร)
2) หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเลขานุการรัฐมนตรี บริหารวงเงินสำหรับตำแหน่งประเภทอำนวยการ ตำแหน่งประเภทวิชาการ และตำแหน่งประเภททั่วไป ในสำนักงานรัฐมนตรี
2.3.2 ให้สำนักงาน ก.พ. ตอบให้ความเห็นชอบการกำหนดผู้บริหารวงเงินสำหรับตำแหน่งที่อาจกำหนดให้มีขึ้นใหม่ได้ โดยไม่ต้องนำเสนอ ก.พ. และคณะรัฐมนตรีพิจารณา ทั้งนี้ การกำหนดผู้บริหารวงเงินดังกล่าวให้คำนึงถึงลำดับชั้นการบังคับบัญชาเป็นสำคัญ
2.3.3 ให้ส่วนราชการและจังหวัดกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดสรรวงเงินที่กันไว้บริหารต่างหาก และให้ประกาศให้ข้าราชการในสังกัดทราบโดยทั่วกัน ก่อนออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือน
2.3.4 ให้กำหนดเงื่อนไขการกำหนดวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนเพิ่มเติมใน 2 กรณี ดังนี้
1) กรณีข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้ต่อเวลาราชการ และเป็นผู้ที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของระดับตำแหน่ง ไม่ให้นำอัตราเงินเดือนของข้าราชการผู้นั้นมาคำนวณรวมเป็นวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนของส่วนราชการ
2) กรณีข้าราชการพลเรือนสามัญผู้จะได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนและถึงแก่ความตาย ก่อนวันที่ 1 มีนาคม หรือ 1 กันยายน แล้วแต่กรณี ให้นำอัตราเงินเดือนของข้าราชการผู้นั้นมาคำนวณรวมเป็นวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนของส่วนราชการในวันที่ 1 มีนาคม หรือ 1 กันยายน แล้วแต่กรณี
2.4 กรณีการแก้ไขปัญหาการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการในสังกัด จังหวัดบึงกาฬ ณ วันที่ 1 เมษายน 2554 ให้ดำเนินการตามแนวทางในข้อ 2.2 โดยให้ผู้บังคับบัญชาในส่วนราชการ จังหวัด หรือหน่วยงานต้นสังกัดเดิมของข้าราชการผู้ได้รับการแต่งตั้ง ให้ไปดำรงตำแหน่งในสังกัดจังหวัดบึงกาฬประเมินผลการปฏิบัติราชการและบริหารวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการผู้นั้น แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือนเป็นผู้ออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือนข้าราชการผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งในสังกัดจังหวัดบึงกาฬ ตามผลการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาในต้นสังกัดเดิมดังกล่าว
3. สำนักงาน ก.พ. ได้นำเรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนดังกล่าว (ตามข้อ 2.) เสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องการกำหนดนโยบายในการปฏิบัติราชการและเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการ กรณีจึงอาจเป็นการดำเนินการที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป อันเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2554--จบ--