คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
2. ให้เลขาธิการอาเซียนลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว
3. ให้ กต. แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียนว่า รัฐบาลไทยเห็นชอบให้จัดทำบันทึกความเข้าใจฯ และให้เลขาธิการอาเซียนลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
4. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1.สำนักเลขาธิการอาเซียนขอความเห็นชอบประเทศสมาชิกในการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อขยายความร่วมมือทางวิชาการในด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างขีดความสามารถของสำนักเลขาธิการอาเซียน สำหรับปี ค.ศ. 2011-2015 ภายหลังจากที่บันทึกความเข้าใจฉบับเดิมหมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553
2. ประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้ร่วมหารือและปรับแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ จนสามารถตกลงกันได้ทุกข้อบท
3. การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 17 — 19 พฤศจิกายน 2554 ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยเลขาธิการอาเซียนและประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียจะเป็นผู้ลงนาม ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะต้องให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ และให้ความเห็นชอบให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามในนามอาเซียน
4. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างสององค์การเพื่อขยายความร่วมมือเชิงวิชาการในด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการเสริมสร้างขีดความสามารถของสำนักเลขาธิการอาเซียน สำหรับปี ค.ศ. 2011 — 2015 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
4.1 สาขาความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงการรวมตัวทางการเงินและตลาดทุน การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเน้นเรื่องการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานทดแทน การสนับสนุนกระบวนการของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนตะวันออก การติดตามและเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจมหภาคของการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคการค้าและการลงทุน
4.2 อาเซียนและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียจะร่วมกันจัดทำแผนการทำงานสำหรับระยะเวลา 2 ปี เพื่อกำหนดโครงการและกิจกรรมที่องค์การทั้งสองจะดำเนินการร่วมกัน ในแต่ละประเด็นความร่วมมือตามข้อ 4.1 โดยมีการหารืออย่างใกล้ชิดระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียน องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
4.3 บันทึกความเข้าใจฯ ไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายหรือทางการเงิน ทั้งนี้ หากองค์การทั้งสองประสงค์มีข้อผูกพันทางการเงินระหว่างกัน ให้จัดทำเป็นความตกลงแยกต่างหาก
4.4 บันทึกความเข้าใจฯ จะเริ่มมีผลในวันที่ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากองค์การทั้งสองลงนามบันทึกความเข้าใจฯ และจะมีอายุจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558
5. โดยที่อาเซียนและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียไม่มีเจตนาให้บันทึกความเข้าใจฯ มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Articil 8.2 “This Memorandum of Understanding constitutes an expression of mutual good faith and is not intended to create legally binding obligations on either Party….”) ดังนั้น ร่างบันทึกความเข้าใจจึงมิใช่หนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันรัฐบาลแต่อย่างใด
6. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นองค์การที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยบันทึกความเข้าใจฯ ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนการทำงานทุก 2 ปี อย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะทำให้การดำเนินโครงการและกิจกรรมความร่วมมือมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่จะช่วยสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน และการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี 2558
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2554--จบ--