คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
1. หลักการดำเนินโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท
2. กรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้ง 6 แห่ง ประสานกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ในการขอตั้งงบประมาณต่อไป
3. หลักการปรับปรุงระบบข้อมูลเครดิตของลูกค้าในฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และมีมติให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องรหัสสถานะบัญชี
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่าตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการภายในปีแรกในเรื่องการพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท อย่างน้อย 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน 500,000 บาท รวมทั้งจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพและแผนการปรับโครงสร้างการผลิตอย่างครบวงจรเพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการมีรายได้ที่มั่นคงและสามารถใช้หนี้คืน กค. จึงได้จัดทำกรอบการดำเนินโครงการพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. หลักการดำเนินโครงการ
โครงการพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท อย่างน้อย 3 ปี เฉพาะหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้เท่านั้นซึ่งมีผู้มีสิทธิประมาณ 775,090 บัญชี มูลหนี้คงค้าง 90,502.55 ล้านบาท โดยการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน 500,000 บาท จะเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงานปกติของสถาบันการเงินอยู่แล้ว
1.1 วัตถุประสงค์โครงการพักหนี้ฯ
1.1.1 เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีปัญหาชำระหนี้ โดยให้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสนำเงินที่ต้องส่งชำระหนี้ไปฟื้นฟูตนเองในการประกอบอาชีพและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของครัวเรือนให้ดีขึ้นระหว่างการพักชำระหนี้
1.1.2 เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพและการดำรงชีวิต เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างบูรณาการและยั่งยืน
1.2 กลุ่มเป้าหมายโครงการพักหนี้ฯ 2 กลุ่ม ได้แก่
1.2.1 ลูกค้าบุคคลธรรมดาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กู้เงินแบบมีวัตถุประสงค์เพื่อการประกอบอาชีพจัดหาที่อยู่อาศัย การศึกษา และรักษาพยาบาล โดยมีคุณสมบัติดังนี้
(1) มีปัญหาในการชำระภาระหนี้ กล่าวคือเป็นลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระ และ/หรือหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส) โดยไม่รวมลูกหนี้ที่เคยถูกดำเนินคดีและอยู่ระหว่างดำเนินคดีโดย ธ.ก.ส. และ
(2) มีหนี้ต้นเงินกู้คงเหลือรวมทุกสัญญาในทุกสถาบันการเงินรวมกันรายละไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ โดยเป็นสถานะหนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2554
1.2.2 ลูกค้าบุคคลธรรมดาของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ที่กู้เงินแบบมีวัตถุประสงค์เพื่อการประกอบอาชีพจัดหาที่อยู่อาศัย การศึกษา และรักษาพยาบาล ฯลฯ โดยมีคุณสมบัติดังนี้
(1) มีปัญหาในการชำระภาระหนี้ กล่าวคือเป็นลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loans — NPLs) และ/หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยไม่รวมลูกหนี้ที่เคยถูกดำเนินคดีและอยู่ระหว่างดำเนินคดีโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้นและ
(2) มีหนี้ต้นเงินกู้คงเหลือรวมทุกสัญญาในทุกสถาบันการเงินรวมกันรายละไม่เกิน 500,000 บาท โดยเป็นสถานะหนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2554 และ
(3) เป็นผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554
1.3 ระยะเวลาการพักหนี้
ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557
1.4 รูปแบบการดำเนินการและเงื่อนไขการเข้าโครงการ
1.4.1 ลูกค้าสมัครใจพักชำระหนี้ โดยสามารถพักชำระต้นเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 และไม่ต้องชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
1.4.2 สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ให้กู้เงินแก่ลูกหนี้เพื่อการประกอบอาชีพจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพของครัวเรือนลูกค้าที่เหมาะสมตามภูมิสังคมและพัฒนาความรู้ ศักยภาพในการประกอบอาชีพ รวมถึงแผนการชำระหนี้ที่เหมาะสมตามศักยภาพของครัวเรือนในระหว่างโครงการ
1.4.3 ในระหว่างการพักชำระหนี้ ลูกค้าไม่มีสิทธิขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ขอพักชำระหนี้
1.4.4 ลูกค้าที่เข้าโครงการจะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ตามศักยภาพตลอดระยะเวลาการพักหนี้และหลังสิ้นสุดโครงการโดยลูกค้าจะต้องร่วมจัดทำแผนการชำระหนี้ที่เหมาะสมสำหรับการชำระหนี้ภายหลังสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถออกจากโครงการก่อนระยะเวลา 3 ปี ได้ ตามหลักเกณฑ์ของแต่ละสถาบันการเงินเฉพาะกิจและไม่สามารถกลับเข้าโครงการได้อีกไม่ว่ากรณีใด
1.5 ระยะเวลาเริ่มต้นโครงการ
สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เกี่ยวข้องจะเริ่มดำเนินโครงการโดยเปิดลงทะเบียนลูกค้าที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 โดยมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 เดือน
1.6 การฟื้นฟูและพัฒนาลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ
กค. จะร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง จัดทำแนวทางรูปแบบและหลักสูตรการอบรมฟื้นฟูที่เหมาะสมตามประเภทลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ โดย กค. จะเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในการอบรมฟื้นฟูให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ลูกค้าสามารถพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตภายหลังสิ้นสุดโครงการได้อย่างเหมาะสม
2. งบประมาณในการดำเนินโครงการ
2.1 ภาระชดเชยต้นทุนเงินสำหรับการพักหนี้ให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี คิดเป็นวงเงินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จำนวน 3,620.11 ล้านบาท และตลอด 3 ปี จำนวน 10,860.31 ล้านบาท
2.2 ภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอบรมลูกหนี้ที่จะดำเนินการตามแนวทางในข้อ 1.6 ตลอด 3 ปี รวมเป็นเงิน 1,279.73 ล้านบาท ซึ่ง กค. จะเป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำแผนฟื้นฟูและกำกับดูแลการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้อง โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นหน่วยงานดำเนินการอบรมฟื้นฟู
2.3 ภาระค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ การตรวจเยี่ยมลูกค้าและติดตามประเมินผลโครงการ ตลอด 3 ปี รวมเป็นเงิน 266.00 ล้านบาท โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจรับผิดชอบดูแลงบประมาณ ดำเนินการตามแผนของแต่ละหน่วยงาน และรายงานผลให้ กค. ทราบเป็นระยะ รวมภาระงบประมาณทั้งสิ้น 12,406.04 ล้านบาท ทั้งนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่ง จะดำเนินการขอตั้งงบประมาณดังกล่าวจาก สงป. ต่อไป
3. การปรับปรุงระบบข้อมูลเครดิตของลูกค้าในฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อรองรับการดำเนินโครงการ
เนื่องจากสถานะบัญชีของลูกหนี้ที่ร่วมโครงการพักหนี้ฯ จะปรากฏเป็น “พักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ” ในฐานข้อมูลเครดิตของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เช่นเดียวกับสถานะบัญชีของลูกหนี้ที่ร่วมโครงการพักชำระหนี้อื่นๆ ของรัฐ เช่น โครงการพักชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ประสบภัยน้ำท่วมที่รัฐบาลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการไปก่อนแล้ว เป็นต้น แม้ว่าลูกหนี้ที่เข้าร่วมในแต่ละโครงการจะมีความสามารถในการชำระหนี้แตกต่าง กันดังนั้นในการวิเคราะห์สินเชื่อเพิ่มเติมในอนาคตให้กับลูกหนี้ สถาบันการเงินจะไม่สามารถแยกได้ว่าลูกหนี้ได้รับการพักหนี้ตามนโยบายใดของรัฐ และอาจเหมารวมว่าลูกหนี้ทุกรายเป็นผู้มีภาระหนี้เกินกำลัง ซึ่งอาจทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพได้ ดังนั้น กค. จึงเห็นควรให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องรหัสถานะบัญชี โดยกำหนดรหัสสถานะบัญชีของลูกหนี้ที่ได้รับการพักชำระหนี้ในฐานข้อมูลเครดิต ให้ชัดเจนตามประเภทโครงการนโยบายรัฐ ทั้งนี้ ตามความในมาตรา 30(7) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554--จบ--