การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 16, 2011 10:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้

1. ความเป็นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4

2. ผลการดำเนินงาน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการต่างประเทศ จัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ From Nature to Technology ณ บ้านวิทยาศาสตร์ สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2554 มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

2.1 ผู้เข้าร่วมงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 รวม 634 คน ประกอบด้วย

2.1.1 นักเรียนไทยและต่างประเทศ 500 คน

2.1.2 ครูและเจ้าหน้าที่ไทยและชาวต่างประเทศ 134 คน โดยผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม เขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ไชนิสไทเป สหรัฐอเมริกา เขตบริหารพิเศษฮ่องกง นิวซีแลนด์ แคนาดา มาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์

2.2 มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ได้แก่

2.2.1 การบรรยายพิเศษ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก

2.2.2 กิจกรรมสำหรับนักเรียน ได้แก่ ค่ามหัศจรรย์พลังงานนิวเคลียร์ ค่ายความหลากหลายทางชีวภาพ ค่ายท่องโลกดาราศาสตร์ ค่ายจรวดขวดน้ำ ค่ายหุ่นยนต์ปลา ค่ายนักสืบสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง ค่ายโอริงามิ ค่ายภูมิปัญญาท้องถิ่น (บัว) ค่ายภูมิปัญญาท้องถิ่น (กล้วย)

2.2.3 กิจกรรมสำหรับครู ได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการบิน และการสาธิตการทำอาหารและขนมไทย

2.2.4 กิจกรรมสันทนาการ ได้แก่ การแสดงดนตรี และวัฒนธรรม การสาธิตโชว์วิทยาศาสตร์ การเล่านิทานดาวและดูดาว และการมองโลกอนาคตว่าธรรมชาติจะส่งผลกระทบต่อเทคโนโลยีอย่างไร

2.3 ผลที่ได้รับจากการจัดงาน ประกอบด้วย

2.3.1 เกิดเครือข่ายนักเรียนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ และเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ในกลุ่มเอเปค มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ การคิดเชิงวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ตลอดจนการทำงานเป็นทีม

2.3.2 ประเทศไทยได้รับการยอมรับศักยภาพการจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนระดับนานาชาติ สร้างโอกาสในการดึงพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาทำกิจกรรมที่ประเทศไทย

2.3.3 ส่งเสริมให้ “บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการยอมรับมากขึ้นและก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ

2.4 ข้อเสนอแนะ

2.4.1 หน่วยงานไทยควรนำรูปแบบกิจกรรมไปขยายผลในโรงเรียนในประเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สร้างวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ พัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ กระตุ้นและจูงใจให้เยาวชนศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้น

2.4.2 ควรเผยแพร่ผลการจัดงานในเวทีประชุมนานาชาติอื่นๆ เพื่อให้มีการจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

2.4.3 ควรนำผลงานของเยาวชนที่สร้างสรรค์ในระหว่างเข้าร่วมงานไปศึกษาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไป

3. ปัญหาและอุปสรรค

แม้ว่าประเทศไทยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้แก่นักเรียนต่างชาติจาก 21 เขตเศรษฐกิจ รวม 42 คน แต่กลับมีเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมเพียง 15 เขตเศรษฐกิจ มีนักเรียนต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากไทย 30 คน เนื่องจาก

3.1 ปัญหาภัยธรรมชาติภายในประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ซึ่งประสบภัยสึนามิ

3.2 ไม่สามารถคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมงานได้ทันเวลา ได้แก่ สหพันธ์รัฐรัสเซีย สหรัฐเม็กซิโก สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐเปรู และปาปัวนิวกินี

4. แนวทางแก้ไข เพื่อให้สมาชิกเอเปคตระหนักถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน และให้ความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงในการจัดงานครั้งต่อไป กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้นำเสนอผลสำเร็จของการจัดงานต่อที่ประชุมคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเอเปค ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 16-22 กันยายน 2554 ณ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้แทนจากประเทศสมาชิกได้แสดงความสนใจในกิจกรรมดังกล่าวเป็นอย่างมาก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ