รายงานผลการดำเนินงาน ป้องกันและฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 16, 2011 11:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงาน ป้องกันและฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้

ตามที่ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่นิคม/ เขตประกอบการ/ สวนอุตสาหกรรม 7 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2554 และลุกลามขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นในบางพื้นที่ และมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ จึงได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับคืนมาทำการผลิตอย่างปกติโดยเร็ว รวมทั้งป้องกันพื้นที่ที่มีความเสี่ยงให้รอดพ้นจากการเกิดอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานผลการดำเนินงานในเรื่องข้างต้น ดังต่อไปนี้

1. การฟื้นฟูนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะทำงานฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้พัฒนานิคม ในการจัดทำแผนฟื้นฟูนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม ที่ประสบอุทกภัยแล้วรวม 7 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟ็คตอรี่แลนด์ สวนอุตสาหกรรมนวนคร และสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ซึ่งภาพรวมของแผนการฟื้นฟู ประกอบไปด้วย งานสูบน้ำ งานทำความสะอาดพื้นที่นิคมและโรงงาน งานซ่อมแซมอาคาร/สิ่งปลูกสร้าง งานฟื้นฟูสาธารณูปโภค (น้ำประปา,ไฟฟ้า) งานรื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักร งานติดตั้งเครื่องจักรใหม่ งานฟื้นฟูซ่อมแซมเครื่องจักร ปัจจุบันนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมแต่ละแห่งอยู่ในขั้นตอนแรกของการดำเนินงานซ่อมคันดินและสูบน้ำออกโดยเริ่มดำเนินงานสูบน้ำแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งเริ่มมีการสูบน้ำตั้งแต่วันที่ 7 — 8 พฤศจิกายน 2554 จะใช้เวลาสูบน้ำประมาณ 20 — 30 วัน และคาดว่าจะสามารถสูบน้ำออกจากสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยได้ทั้งหมด 7 แห่ง ภายในเดือนธันวาคม 2554

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานการฟื้นฟูสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยมี ดังนี้

1. ปัญหาการจัดหาเครื่องสูบน้ำได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวบรวมเครื่องสูบน้ำมาช่วยในการสูบน้ำ แต่ก็ยังหาได้ไม่ครบทำให้แผนการดำเนินงานอาจล่าช้าออกไป

2. ปัญหามวลชนรอบนิคม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการสูบน้ำออก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งทำความเข้าใจและกำชับให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง

3. ปัญหานิคม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม ที่ประสบอุทกภัยบางแห่งขาดแรงงานในขั้นตอนการซ่อมคันดินก่อนสูบน้ำและการทำความสะอาดในขั้นตอนหลังสูบน้ำออกหมดแล้ว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นควรขอกำลังพลจากกองทัพเข้ามาช่วยเหลือดำเนินงาน

2. การป้องกันนิคมอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจะประสบอุทกภัย

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้คณะทำงานป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรม ดำเนินการป้องกันด้วยมาตรการต่างๆ โดยทุ่มเทสรรพกำลังจากทุกหน่วยงาน เพื่อรักษานิคมอุตสาหกรรม ๘ แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมเวลโกล์ว นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร และนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร มิให้ถูกน้ำท่วมเสียหายเพิ่มเติมอีก เพราะถือว่าเป็นการป้องกันไว้ซึ่งฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ และปกป้องเศรษฐกิจในภาพรวม

มาตรการในเชิงป้องกันของนิคมฯ ที่สำคัญๆ ได้แก่ การเสริมความสูงของพนังกั้นน้ำ เขื่อนหรือคันดิน พร้อมกับการตรวจตราความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำอย่างใกล้ชิด การจัดหา เครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรหนัก การขุดลอกคูคลองและ การกำจัดเศษขยะเพื่อให้น้ำระบายได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น การย้ายและจัดเก็บสารเคมีอันตรายไว้ในที่ปลอดภัย การจัดเวรยามเฝ้าระวังความสูงของน้ำและสภาพของคันดิน การทำความเข้าใจกับชุมชน และการเตรียมแผนอพยพ เป็นต้น และให้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการทุกวันปัจจุบันมาตรการป้องกันสำหรับนิคมฯ ต่างๆ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนด้านกำลังคนและเครื่องจักรหนักในการกู้ภัยจากกระทรวงกลาโหมเป็นอย่างดี

3. การตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการระบายน้ำในพื้นที่ท่วมขังภายในพื้นที่นิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม

เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณภายนอกนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม มีความมั่นใจว่าน้ำที่สูบออกไปจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการการทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการระบายน้ำในพื้นที่ท่วมขังภายในนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม โดยมีแนวทางการทำงานดังนี้

3.1 ตรวจสอบคุณภาพน้ำตั้งแต่ระยะที่น้ำภายในและภายนอกนิคมอยู่ในระดับเดียวกันจนกระทั่งน้ำแห้งโดยตรวจสอบเป็นระยะๆ ต่อเนื่อง

3.2 กรณีที่ตรวจพบว่าคุณภาพน้ำไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องหยุดสูบน้ำออกชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานจึงจะดำเนินการสูบน้ำต่อได้

3.3 ดำเนินการบำบัดและฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้ได้ตามมาตรฐาน โดยการบำบัด ณ บริเวณที่ตรวจพบ

3.4 ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่มีการสูบน้ำ

3.5 หากพบถังสารเคมี จะตรวจวิเคราะห์และจำแนกความเป็นอันตรายของสารเคมี และดำเนินการเก็บรวบรวมไว้ในที่ปลอดภัย

3.6 เมื่อระดับน้ำลดลงจนเหลือระดับ 30 เซนติเมตรจากระดับพื้นหรือจนถึงระดับตะกอนดินจะต้องหยุด ทำการสูบน้ำ และทำการตรวจสอบคุณสมบัติของตะกอนว่าเข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 หรือไม่ หากเข้าข่ายจะต้องดำเนินการเก็บรวบรวมและนำไปบำบัดนอกพื้นที่โดยผู้ได้รับการอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีไม่เข้าข่ายจะต้องขออนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือการนิคมอุตสาหกรรมก่อนนำออกนอกพื้นที่

การดำเนินงานข้างต้น จะมีการเก็บตัวอย่างน้ำร่วมกัน รวมทั้งมีกระบวนการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ความเสี่ยงต่อชุมชนให้เกิดความเข้าใจ นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเฝ้าระวังผลกระทบทางด้านสุขภาพของชุมชันอย่างต่อเนื่องด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ