คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างเอกสาร ASEAN Framework for Equitable Economic Development : Guiding Principles for Inclusive and Sustainable Growth
1.2 ร่างเอกสาร ASEAN Framework for Regional Comprehensive Economic Partnership
2. มอบหมายให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองเอกสารในข้อ 1. กับผู้นำของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของอาเซียน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ พณ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้จัดทำร่างเอกสารสำคัญด้านเศรษฐกิจ จำนวน 2 ฉบับ ในหัวข้อ ASEAN Framework for Equitable Economic Development : Guiding Principles for Inclusive and Sustainable Growth และหัวข้อ ASEAN Framework for Regional Comprehensive Economic Partnership เพื่อจะนำเสนอเป็นเอกสารของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2554 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยในการประชุมดังกล่าว ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจะพิจารณาให้การรับรองเอกสารดังกล่าวนี้ โดยไม่มีการลงนาม ทั้งนี้ ร่างเอกสารสำคัญดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.1 ร่างเอกสาร ASEAN Framework for Equitable Economic Development : Guiding Principles for Inclusive and Sustainable Growth
เป็นเอกสารที่อินโดนีเซีย ในฐานะประธานของอาเซียนในปีนี้ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน อันแสดงถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ร่างเอกสารนี้เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน (Inclusive and equitable growth) และวางแนวทางการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในอีก 3 เสาหลัก (ได้แก่ การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก) ภายใต้ AEC เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจด้วย เช่น การส่งเสริมให้สมาชิกอาเซียนที่มีการพัฒนาช้ากว่าสามารถใช้โอกาสและได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้อย่างเต็มที่ การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันโดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาและทักษะเพื่อเพิ่มผลผลิต การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนการจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีที่เกิดเหตุการณ์ผันผวนทางเศรษฐกิจ และการรับความช่วยเหลือทางการเงินของประเทศคู่เจรจาและองค์กรภายนอกอื่น ๆ
1.2 ร่างเอกสาร ASEAN Framework for Regional Comprehensive Economic Partnership
เป็นเอกสารที่กำหนดกรอบและหลักการพื้นฐานของอาเซียน (ASEAN General Principles) ในการขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement) กับประเทศภาคีความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนในปัจจุบัน (ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย — การเจรจากับประเทศหลังสุดนี้ยังไม่เสร็จสิ้น) ที่มีความสนใจจะเข้าร่วม ตามเป้าหมาย 1 ใน 4 ข้อที่ถือเป็นเสาหลักที่กำหนดไว้ใน AEC Blueprint คือ การที่อาเซียนบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยเน้นบทบาทของอาเซียนเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) ในการขับเคลื่อนการดำเนินการและการเจรจา ตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)
การจัดทำร่างเอกสารดังกล่าวนี้ เป็นขั้นตอนสืบเนื่องหลังจากการสรุปผลการดำเนินงานของคณะทำงาน 4 คณะที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 เพื่อศึกษาแนวทางในการผนวก (consolidate) ความตกลงเขตการค้าเสรีที่อาเซียนจัดทำร่วมกับประเทศภาคีเป็นรายประเทศ (รวม 5 ฉบับ แต่ละฉบับมีภาคี 11 ประเทศ ยกเว้นกรณีออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่อาเซียนจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีร่วมกันเป็น 12 ประเทศ) โดยเป็นขั้นตอนการกำหนดกรอบและหลักการในการดำเนินการต่อไป หลักการพื้นฐานดังกล่าวของอาเซียน มีสาระสำคัญ ดังนี้
- การสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน และจะพัฒนาต่อยอดจากความตกลงเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศภาคีที่มีอยู่แล้ว
- กระบวนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี สามารถจัดทำในลักษณะที่เจรจาแยกกันเป็นส่วน ๆ (ได้แก่ ด้านสินค้า บริการ และการลงทุน) ตามที่จะตกลงกัน (sequential approach) หรือเจรจาไปพร้อมกัน (single undertaking approach) หรือวิธีอื่นที่ภาคีเห็นพ้องร่วมกัน
- เปิดให้ประเทศที่เป็นภาคีความตกลงเขตการค้าเสรีกับอาเซียนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเข้าร่วมเจรจาได้โดยสมัครใจ ส่วนประเทศภาคีที่ยังไม่พร้อมจะเข้าร่วมเจรจาตั้งแต่ต้นตลอดจนประเทศคู่ค้าอื่น ๆ นั้นสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงฯ ได้ในภายหลัง
- ต้องให้การปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่าง (special and differential treatment) แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีระดับการพัฒนาน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (ได้แก่ ลาว กัมพูชา และพม่า)
- ความตกลงฯ ที่จะเป็นผลจากการเจรจา ต้องสอดคล้องกับกฎกติกาภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลก
2. ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2554 ผู้นำอาเซียนจะพิจารณาให้การรับรองเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554--จบ--