ผลการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 13

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 16, 2011 12:14 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 13

การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน+3 ครั้งที่ 10 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 13 การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน+3 ครั้งที่ 10 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

2. เห็นชอบแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน 2554-2556 (ASEAN-China Environmental Cooperation Action Plan 2011-2013) รวมทั้ง มอบหมายให้ ทส. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยหากมีความจำเป็น โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายพิทยา พุกกะมาน) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 13 การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน+3 ครั้งที่ 10 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม 2554 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจากประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อพบปะหารือ และทบทวนความร่วมมือต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน ซึ่งได้รับการพิจารณากลั่นกรองจากระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Official on Environment - ASOEN) ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อมศึกษา มลพิษหมอกควันข้ามแดน และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบความร่วมมือกับประเทศอาเซียน+3

2. แผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน 2554-2556 (ASEAN- China Environmental Cooperation Action Plan 2011-2013) มีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 อาเซียนได้รับรอง The China-ASEAN Strategy on Environmental Protection Cooperation เมื่อปี พ.ศ. 2552 และยุทธศาสตร์ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแผนปฏิบัติการความร่วมมือ (Action Plan) ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปฏิบัติงาน จึงขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาร่างฉบับแรกของแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2554-2556 (the first draft ASEAN- China Environmental Cooperation Action Plan (2011-2013) ซึ่งยกร่างโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน

2.2 แผนปฏิบัติการฯ ระบุประเด็นความร่วมมือที่สำคัญเกี่ยวกับ (1) ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเชิงนโยบายระดับสูง ได้แก่ การจัดประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน การประชุมในกรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน (2) การพัฒนาและดำเนินโปรแกรมทูตสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน (the ASEAN-China Green Envoys Program) อาทิ การฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ทูตสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน การสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณะ (3) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม อาทิ การส่งเสริมการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน การศึกษาความเป็นไปได้และส่งเสริมให้มีการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมร่วมกัน การพัฒนาโครงการนำร่องด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (4) โครงการวิจัยร่วม อาทิ การจัดทำและเผยแพร่รายงานด้านสิ่งแวดล้อมในทัศนะอาเซียน-จีน การพัฒนาและจัดการการศึกษาด้านนโยบายร่วม (Joint Policy Studies)

2.3 การดำเนินตามแผนปฏิบัติการฯ ได้แก่ (1) การจัดการด้านองค์กรที่แต่ละฝ่ายจะมอบหมายผู้ประสานงานอย่างเป็นทางการ (National Focal Point : NPF) สำหรับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน และทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งฝ่ายเลขานุการปฏิบัติการความร่วมมือ (Joint Implementation Secretariat : JIS) ซึ่งฝ่ายจีนรับผิดชอบโดยศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียนจีน (The China-ASEAN Environmental Cooperation Center : CAEC) และฝ่ายอาเซียนโดยสำนักเลขาธิการอาเซียนฝ่ายสิ่งแวดล้อม (2) การสนับสนุนด้านการเงิน โดยระบุแหล่งเงินทุนสนับสนุนที่สำคัญซึ่งไม่จำเพาะเจาะจงเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว ได้แก่ กองทุนความร่วมมืออาเซียน-จีน (ASEAN- China Cooperation Fund) การสนับสนุนจากคู่เจรจานานาชาติ รัฐบาลจีน รัฐบาลจากประเทศสมาชิกอาเซียน และแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ-เอกชนอื่น (Public-Private Partnership)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ