คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดตามที่รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง) ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ยธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) รายงานว่า ปัญหายาเสพติดที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก เฉลิมฯ) ได้มีการดำเนินการ ดังนี้
1. การเปิดปฏิบัติการวาระแห่งชาติพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด เพื่อทำความเข้าใจและบูรณาการแนวความคิดตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2. การขับเคลื่อนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด จำนวน 4 ภารกิจ ได้แก่ 1) การจัดตั้งกลไกการดำเนินงาน ประกอบด้วย ศพส. ระดับกระทรวง การจัดตั้งสำนักงาน ศพส. การจัดตั้งกลไกเฉพาะใน 3 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินฯ สกัดกั้นชายแดนภาคเหนือ ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินฯ แก้ไขปัญหากรุงเทพมหานครและปริมณฑล และศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินฯ แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) การจัดทำแผนระดับต่าง ๆ รองรับปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ได้แก่ การบูรณาการประสานแผนส่วนกลาง จำนวน 7 แผนงานหลัก การบูรณาการแผนและงบประมาณลงพื้นที่ การให้สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัดประชุมชี้แจงแผนระดับจังหวัด ในวันที่ 22 — 23 กันยายน 2554 และให้จังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ภายในเดือนตุลาคม 3) การเตรียมการรองรับการปฏิบัติ เช่น การคัดเลือกและอบรมชุดปฏิบัติการมวลชนระดับอำเภอ การจัดหาสถานที่จัดทำค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพ 1 อำเภอ : 1 ค่าย การจัดชุดปฏิบัติการปราบปรามนักค้ารายสำคัญตามเป้าหมายการเตรียมห้อง Operation Room ของ ศพส. และระบบรายงาน
3. การกำหนดแนวทางการดำเนินการปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย แนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด แนวทางการดำเนินงานสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา และการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรองรับแผนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด
4. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ชายแดนภาคเหนือตอนบน เพื่อระดมความคิดเห็นในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหายาเสพติดร่วมกัน เพื่อบูรณาการการดำเนินงานให้เป็นเอกภาพโดยเฉพาะด้านการข่าว ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การเน้นการสกัดกั้นตามแนวชายแดนที่เป็นพื้นที่ลักลอบนำเข้ายาเสพติด และสกัดกั้นสารตั้งต้น โดยใช้กลไกระดับอำเภอ โดยแผนบูรณาการระดับอำเภอดำเนินงานในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มและเสริมสร้างความเข้มแข็งของพลังแผ่นดินและพลังประชาชนที่อยู่เดิม ได้แก่ ชุดรักษาความปลอดภัย (ชรบ.) ให้มีส่วนในการสกัดกั้นโดยเฉพาะแหล่งข่าวภาคประชาชน
5. จัดประชุมผู้นำชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามแผนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด พร้อมมอบนโยบายและชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดด้วยการใช้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้แก่หน่วยงานทั้งภาคราชการและประชาชนในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้ง 2,003 แห่ง
6. จัดประชุมกองบัญชาการตำรวจนครบาลและผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานรวมทั้งปัญหาอุปสรรค และพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554--จบ--