สรุปผลการหารือเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบอุทกภัยฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 23, 2011 15:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์) ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เสนอสรุปผลการหารือเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบอุทกภัยฯ กรณี การเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การซ่อมรถยนต์ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ทำประกันภัย การซ่อมแซมบ้าน และข้อแนะนำความปลอดภัยจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้

ตามที่การเกิดสภาวะอุทกภัยขั้นรุนแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและได้รับความเสียหายจากทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยอย่างกว้างขวาง ประการสำคัญอย่างหนึ่งได้แก่ รถยนต์และรถจักรยานยนต์จมน้ำ ถูกโจรกรรม บ้านที่อยู่อาศัยจมน้ำ ทำให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ดังกล่าวอาจอยู่ในระหว่างการเช่าซื้อ หรือเตรียมการที่จะทำการซ่อม ตลอดจนความปลอดภัยจากการใช้เครื่องไฟฟ้า นั้น

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เชิญสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สมาคมอู่กลางแห่งประเทศไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และ การไฟฟ้านครหลวง พิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบอุทกภัยกรณีเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การเตรียมการซ่อมรถยนต์ การเตรียมการซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า สรุปแนวทางการช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบอุทกภัยดังกล่าว มีดังนี้

1. แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์

1.1 ให้มีการยกเว้นค่าติดตามทวงถามและเบี้ยปรับล่าช้าสำหรับลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงระยะเวลาที่เกิดภาวะน้ำท่วม

1.2 มีแนวทางการพักชำระค่างวดเช่าซื้อ สำหรับลูกหนี้ปกติที่ประสบภัยน้ำท่วม

1.3 ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระค่างวดเช่าซื้อ

ทั้งนี้ แต่ละสถาบันจะพิจารณาความเหมาะสมของลูกค้าต่อไป

1.4 ในส่วนของผู้เช่าซื้อเพื่อการพาณิชย์หรือเช่าซื้อรถยนต์หลายคัน (Fleet Finance) จะพิจารณาช่วยเหลือตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า

1.5 ให้มีมาตรการหยุดการทวงถามสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อปกติที่ประสบภัยน้ำท่วมและอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม

1.6 ในกรณีที่ลูกค้าต้องการวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติม หลาย ๆ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกสมาคม ก็ได้จัดให้มีวงเงินกู้สำหรับลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน

1.7 มาตรการอื่น ๆ ตามที่ผู้เช่าซื้อร้องขอโดยพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถาบันการเงินที่ให้เช่าซื้อ หรือสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย โทร. 0 2655 2040-5

2. แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคเกี่ยวกับการซ่อมรถยนต์

สมาคมอู่กลางมีสมาชิก 380 แห่ง มีราคากลางเป็นมาตรฐาน

กรณีรถยนต์ประสบอุทกภัยยังไม่มีราคากลาง แต่จะพิจารณาเป็นกรณีไป และสมาคมยินดีให้ความคุ้มครองผู้บริโภคกรณีดังกล่าว เช่น ข้อมูลรายละเอียดการซ่อมที่ชัดเจน รายละเอียดของชิ้นงาน ทั้งนี้จะได้ประสานยังสมาชิก ให้รับทราบแนวทางการร่วมมือกับ สคบ. ต่อไป

การซ่อมรถยนต์ สคบ. มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการซ่อมรถยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมหลักฐานการรับเงิน โดยกำหนดให้มีหลักฐานการซ่อม การแสดงราคาค่าอะไหล่ ค่าบริการ ระยะเวลาประกันการซ่อม การแสดงชื่อผู้รับผิดชอบ (ผู้ประกอบการ) ฯลฯ หากฝ่าฝืนไม่ออกหลักฐานการซ่อมตามประกาศดังกล่าว มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคเกี่ยวกับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ทำประกันภัย

3.1 กรณีผู้บริโภคที่ได้ทำการซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์และประสบปัญหาความล่าช้า ผู้บริโภคอาจประสานไปยังบริษัทประกันภัยที่ผู้บริโภคได้ทำประกันภัยไว้หรือสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เพื่อเร่งรัดการดำเนินการ ซึ่งโดยปกติผู้ประกอบการที่ทำการรับซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์จะระบุวันเดือนปีที่คาดว่าจะซ่อมแล้วเสร็จไว้เสมอ

3.2 กรณีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จมน้ำ ขอให้ผู้บริโภคดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทประกันภัยที่ทำประกันภัยไว้โดยเร็วที่สุด เพื่อบริษัทประกันภัยจะได้เร่งรีบไปขนย้ายรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ออกจากที่ประสบปัญหาโดยด่วน

3.3 กรณีผู้บริโภคมีความสงสัยเกี่ยวกับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ทุกประเภทที่ผู้บริโภคทำไว้กับบริษัทประกันภัย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ยินดีที่ตรวจสอบ ให้คำแนะนำกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ประสานไปยังบริษัทประกันภัยหรือสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เบอร์โทร 02-645-1133 หรือ สำนักงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทร. 1186 ก็ได้

4. แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคเกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้าน

สภาพบ้านที่ประสบอุทกภัยอาจมีหลายลักษณะในการซ่อมแซม เช่น น้ำท่วมบ้านทั้งหลัง น้ำท่วมบ้านบางส่วน เป็นต้น กรณีการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้ประสานไปยังสมาชิกของสมาคม จำนวน 43 บริษัท เพื่อเชิญให้เข้าร่วมโครงการซ่อมแซมบ้านผู้ประสบอุทกภัย อยู่ระหว่างการตอบรับยืนยัน แต่ในเบื้องต้นผู้บริโภคอาจขอคำแนะนำจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านเพื่อให้คำแนะนำในรายละเอียดที่จะทำการซ่อมแซมบ้านก่อนก็ได้ โดยสามารถสอบถามที่เบอร์โทร. 02-570-0153

5. คำแนะนำการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ปลอดภัย

การไฟฟ้านครหลวงได้จัดทำคู่มือคำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติ การใช้ไฟฟ้าก่อนและหลังน้ำท่วม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภค โดยในเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ควรมีการดำเนินการ ดังนี้

  • การขนย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ แผงควบคุมไฟฟ้า ให้พ้นน้ำ
  • กรณีเมื่อน้ำลดลงอยู่ในสภาพปกติแล้ว ก่อนที่ผู้บริโภคจะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วมหรือใช้ปลั๊กไฟฟ้า ควรให้ผู้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับไฟฟ้าได้ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าก่อนใช้เสมอ ไม่ควรใช้ไฟฟ้าก่อนการตรวจสอบเด็ดขาด
  • ขณะนี้การไฟฟ้านครหลวง จะไม่มีการแจ้งหนี้ หรืองดจ่ายกระแสไฟฟ้า หากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใดจะขอตัดกระแสไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวงจะพิจารณาดำเนินการให้เฉพาะรายที่ร้องขอ หรือเป็นกรณีที่หมู่บ้านขอตัดกระแสไฟฟ้า จะต้องเป็นการยืนยัน หรือร้องขอจากคณะกรรมการหมู่บ้านเท่านั้น
  • หากมีข้อสงสัยกรณีดังกล่าวสอบถามที่เบอร์ 1130 หรือ 02-256-3257

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ