ขออนุมัติให้ประเทศไทยลงนามในพิธีสาร 6 พรมแดนสำหรับรถไฟและสถานีชุมทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 23, 2011 15:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอดังนี้

1. อนุมัติให้ประเทศไทยลงนามในพิธีสาร 6 พรมแดนสำหรับรถไฟและสถานีชุมทาง

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างพิธีสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าวด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. เสนอว่า

1. การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2541 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้ร่วมลงนามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของเขตการค้าเสรีอาเซียนและเพิ่มความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังการลงนามกรอบความตกลงฯ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องจัดทำพิธีสาร (Protocol) แนบท้ายกรอบความตกลงฯ จำนวน 9 ฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดในทางปฏิบัติ โดยถือว่าพิธีสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความตกลงฯ ซึ่งพิธีสาร 6 เป็นหนึ่งในพิธีสารแนบท้ายกรอบความตกลงดังกล่าว

2. การประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 17 (The 17th ASEAN Summit and Related Summits) ระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2553 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้มีการลงนามและให้การรับรองแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity : MPAC) ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวได้กำหนดให้มีการหาข้อยุติในการจัดทำพิธีสาร 6 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2554 (ค.ศ. 2011)

3. การประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางบกของอาเซียน (ASEAN Land Transport Working Group : LTWG) ครั้งที่ 19 (3-6 พฤษภาคม 2554) ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ประชุมได้นำร่างพิธีสาร 6 ที่มีร่างเดิมอยู่ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างเดิมที่เคยตกลงกันในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน (ASEAN Senior Transport Officials Meeting : STOM) ครั้งที่ 17 (22-24 มิถุนายน 2547) ณ เมืองเสียมเรียบ ราชอาณาจักรกัมพูชา และร่างเดิมที่ประเทศสิงคโปร์ได้เคยเสนอในการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางบกของอาเซียน (LTWG) ครั้งที่ 9 (7-28 เมษายน 2548) ณ กรุงเทพฯ มาพิจารณา และผู้แทนสิงคโปร์ได้เสนอให้ใช้ร่างพิธีสาร 6 ฉบับที่ทั้ง 9 ประเทศได้เคยให้ความเห็นชอบในหลักการในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน (STOM) ครั้งที่ 17 เป็นร่างในการพิจารณาเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งประเทศสมาชิกได้เสนอขอปรับปรุงเนื้อหา/สาระในพิธีสาร 6 เพื่อความเหมาะสม และให้สามารถนำมาปฏิบัติงานได้จริง

4. การประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางบกของอาเซียน (LTWG) ครั้งที่ 20 (2-4 สิงหาคม 2554) ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ประชุมได้หารือเรื่องร่างพิธีสาร 6 และตกลงที่จะใช้ร่างที่ได้จากการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางบกของอาเซียน (LTWG) ครั้งที่ 19 ที่ได้แก้ไขแล้วเป็นร่างฉบับสุดท้าย (Final Text) ที่จะเวียนให้ประเทศสมาชิกตรวจสอบข้อกฎหมายและพิธีการต่าง ๆ โดยประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งยืนยันความพร้อมในการลงนามให้ฝ่ายเลขานุการอาเซียนทราบก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เพื่อจะเสนอให้มีการลงนามพิธีสาร 6 ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งของอาเซียน (ATM) ครั้งที่ 17 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2554

5. คค. โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบความถูกต้องของร่างพิธีสาร 6 ฉบับสุดท้าย (Final Text) ที่ได้มีการพิจารณาการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางบกของอาเซียน (LTWG) ครั้งที่ 20 แล้วเห็นว่า ร่างพิธีสารดังกล่าวเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางบกของอาเซียน (LTWG) ครั้งที่ 19 และ 20

6. หลักการและสาระสำคัญของร่างพิธีสาร 6 พรมแดนสำหรับรถไฟและสถานีชุมทาง

ข้อที่ 1 บทนิยาม (Definitions)

คำศัพท์ที่เกี่ยวกับรถไฟ ได้แก่ สถานีชายแดน สถานีเปลี่ยนถ่ายรถไฟ องค์กรรถไฟ อัตราค่าระวาง ล้อเลื่อน สถานี การขนส่งผ่านแดน ขบวนรถไฟ และผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต

ข้อที่ 2 ขอบเขตการบังคับใช้ (Scope of Application)

ภาคีคู่สัญญาตกลงจะนำข้อตกลงของพิธีสาร 6 ไปใช้เพื่อการขนส่งสินค้าผ่านแดนทางรถไฟ

ข้อที่ 3 สัญญาผูกพัน (Obligations)

  • ภาคีคู่สัญญาจะต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสมที่สถานีที่กำหนดให้เป็นสถานีชายแดนและสถานีเปลี่ยนถ่ายเพื่อการขนส่งสินค้าผ่านแดน
  • ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการขนส่งผ่านแดน ตลอดจนงานด้านเอกสารและกระบวนการทำงาน รวมถึงชั่วโมงทำการให้เรียบง่าย ประสานกัน ไม่ซับซ้อน รายละเอียดให้กำหนดไว้ในข้อตกลงเดินรถไฟร่วมระหว่างประเทศ
  • จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอสำหรับการตรวจสอบล้อเลื่อนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ณ จุดผ่านแดน

ข้อที่ 4 การกำหนดสถานีชายแดนและสถานีเปลี่ยนถ่าย (Designated Railway Border and Interchange Stations)

ภาคีคู่สัญญายอมรับสถานีชายแดนและสถานีเปลี่ยนถ่ายที่คู่ภาคีได้กำหนดไว้รายละเอียดของสถานีบนเส้นทางที่กำหนดและการแก้ไขภายหลังต้องแจ้งให้เลขานุการอาเซียนทราบด้วย

ข้อที่ 5 การจัดเตรียมการปฏิบัติงานขั้นพื้นฐาน ประเภทและจำนวนล้อเลื่อน (Basic Operational Arrangements and Type and Quantity of Rolling Stock)

  • ภายหลังจากที่ภาคีคู่สัญญาได้ยอมรับดำเนินการขนส่งสินค้าผ่านแดนตามข้อตกลงเดินรถร่วมระหว่างกัน ซึ่งได้คำนึงหลักความปลอดภัย ภาคีคู่สัญญาจึงตกลงกำหนดจำนวนขบวนรถสินค้า ตารางการเดินรถ สถานีต้นทาง/ปลายทาง และสถานีชายแดน/เปลี่ยนถ่ายที่ขบวนรถผ่าน สถานที่ตรวจสอบและบริการรถจักร ประเภทและชนิดของล้อเลื่อน ความเร็ว เป็นต้น
  • ค่าระวางควรเป็นผลรวมของค่าระวางตามระยะทาง ซึ่งแต่ละการรถไฟได้เรียกเก็บจากการขนส่งในลักษณะเดียวกัน
  • น้ำหนักบรรทุกจะต้องไม่เกินพิกัดตามที่ภาคีคู่สัญญาได้กำหนดไว้
  • การลากจูงขบวนรถต้องใช้รถจักรของภาคีคู่สัญญา เว้นแต่ภาคีคู่สัญญาจะมีข้อตกลงร่วมกันไว้เป็นอย่างอื่น
  • ภาคีคู่สัญญาจะต้องเตรียมรถจักรสภาพพร้อมใช้งานที่สถานีเปลี่ยนถ่ายตามกำหนดการเดินรถผ่านแดนเพื่อทำการเดินรถต่อไปบนเครือข่ายของภาคีคู่สัญญานั้น
  • ภาคีคู่สัญญาต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการขนส่งสินค้าอันตรายขององค์การสหประชาชาติ (UN Model Regulations on Transport of Dangerous Goods) หากสินค้าที่ทำการขนส่งทางรถไฟเป็นวัตถุอันตราย

ข้อที่ 6 การตรวจสอบล้อเลื่อน (Inspection of Rolling Stock)

  • ภาคีคู่สัญญาตกลงจัดให้มีนายตรวจล้อเลื่อน (Rolling Stock Examiners) เพื่อทำการตรวจสอบล้อเลื่อนและขบวนรถ ทั้งนี้ นายตรวจล้อเลื่อนดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดใน Regulations and Instruction for Carriage and Wagon Examiners
  • ภาคีคู่สัญญาตกลงว่าล้อเลื่อนที่ใช้ในการเดินรถจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยนายตรวจล้อเลื่อนเมื่อจำเป็น
  • ภาคีคู่สัญญาควรจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินขบวนรถผ่านแดนและจัดให้มีระบบการติดตามที่มีประสิทธิภาพ

ข้อที่ 7 การจัดเตรียมองค์กร (Institutional Arrangements)

  • การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่ง (STOM) รับผิดชอบในการติดตาม ดูแล และให้คำปรึกษา เพื่อให้การนำพิธีสาร 6 ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล
  • การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่ง (STOM) ต้องเสนอรายงานผลการดำเนินงานตามพิธีสาร 6 เป็นประจำ โดยผ่านทางเลขานุการอาเซียน
  • เลขานุการอาเซียน จะต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านเทคนิคที่จำเป็นต่อการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่ง (STOM)

ข้อที่ 8 บทส่งท้าย (Final Provisions)

  • พิธีสารนี้จะมีเลขานุการอาเซียนเป็นผู้ประสานงาน
  • พิธีสารนี้ถือเป็นส่วนเดียวกับกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน
  • พิธีสารนี้ต้องมีการให้สัตยาบันหรือการยอมรับจากภาคีคู่สัญญาและแจ้งไปยังเลขานุการอาเซียน
  • พิธีสารนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการให้สัตยาบันและการยอมรับจากทุกประเทศในภาคีคู่สัญญา
  • การแก้ไขข้อกำหนดจะกระทำได้เมื่อได้รับความยินยอมจากทุกประเทศในภาคีคู่สัญญา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ